ตรวจสุขภาพทางการเงิน ฉบับนักลงทุนสไตล์มนุษย์เงินเดือน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ตรวจสุขภาพทางการเงิน ฉบับนักลงทุนสไตล์มนุษย์เงินเดือน

icon-access-time Posted On 02 มิถุนายน 2558
By iSalaryman
หากพูดถึงตรวจสุขภาพก็คงจะนึกถึงการตรวจร่างกาย ที่คนวัยทำงานก็จะมีการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ซึ่งมีความสำคัญที่ต้องตรวจเพราะจะได้รู้ว่าร่างกายของเรา อวัยวะภายในของเรายังปกติอยู่ไหม มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า หากตรวจพบจะได้รีบให้แพทย์รักษาให้หายเป็นปกติแต่เนิ่นๆ แต่ถ้าไม่ตรวจเลยแล้วมาเจอตอนหลังอาจสายเกินไป แต่บางคนก็ไม่อยากตรวจ ถ้าจะเป็นอะไรก็เจอทีเดียวเลยแล้วกัน
เป้าหมายของการตรวจสุขภาพก็คืออยากให้ตัวเรามีสุขภาพดี อายุยืน และถ้าหันกลับมามองสถานภาพทางการเงินของตัวเอง ผมว่าก็มีความใกล้เคียงกันนะ ถ้าจะใช้คำว่าตรวจสุขภาพทางการเงิน ผมขอเปรียบเทียบวัยต่างๆ ว่ามีความสำคัญแค่ไหนทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพเงิน
วัยเด็ก ไม่ต้องสนใจสุขภาพมากมาย เพราะร่างกายแข็งแรงดี ถ้าสุขภาพทางการเงินถึงจะยังขอเงินพ่อแม่อยู่ ก็อย่าลืมทำตามที่ท่านสอนเรื่องการเก็บออม
วัยทำงาน ต้องเริ่มสนใจสุขภาพมากขึ้น ใครทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ร่างกายก็จะทรุดโทรมเร็ว ถ้าตรวจสุขภาพ ใส่ใจดูแลเป็นประจำ ก็จะมีสุขภาพแข็งแรง ในส่วนของสุขภาพเงินก็เช่นกัน อยู่ในวัยที่มีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบเยอะ รายจ่ายก็เยอะ หากไม่ดูแลดีๆ ก็อาจมีปัญหาได้ นั่นคือ หนี้สิน
วัยเกษียณ จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นหลัก แต่ถ้าใส่ใจดูแลตั้งแต่วัยทำงานมาเรื่อยๆ ก็จะมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืน ส่วนเรื่องสุขภาพทางการเงิน ถ้าวางแผนทางการเงินไว้ดี สมัยวัยทำงานใส่ใจอยู่สม่ำเสมอ มาวัยนี้ก็จะสบายเช่นกัน
พอมองเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ เราอยู่ในช่วงวัยทำงานจึงต้องสนใจเป็นพิเศษ ถ้าเราไม่ได้รวยมาตั้งแต่เกิดก็ต้องสนใจหมั่นตรวจสุขภาพการเงินของเราให้ดี ถึงแม้จะรวยมาตั้งแต่เกิด พ่อแม่มีให้พร้อมแต่ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักหาเพิ่ม มันก็หมดได้เช่นกัน
แล้วการตรวจสุขภาพทางการเงินเราจะสนใจอะไรบ้าง คุณลองตรวจสอบง่ายๆ ดังนี้
  • รายได้ของคุณมีอะไรบ้าง นอกจากเงินเดือน คุณมีรายได้ทางอื่นอีกไหม มีหารายได้พิเศษไหม ลองนึกดูครับ และทุกๆ ปีคุณได้ปรับเงินเดือนไหม มีโบนัสหรือป่าว เป็นรายได้หลักของเราต้องคำนวณดีๆ ครับ
  • กำไรจากดอกเบี้ย เงินปันผล ที่ได้จากการลงทุน คุณมีลงทุนอะไรบ้าง ผมว่าตัวนี้สำคัญมากเลยทีเดียว หากวางแผนจัดพอร์ตการลงทุนให้ดี มันก็จะงอกเงยมีเงินใช้ในวัยเกษียณอย่างที่บอกไป
  • รายจ่าย ต้องสำรวจว่าแต่ละเดือนคุณต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง มีผ่อนอะไรบ้าง เสียค่าดอกเบี้ยเท่าไหร่ ลองหักกับรายได้ที่รับเข้ามา ถ้าติดลบก็จะลำบาก คือ มีภาระหนี้สินที่ต้องจัดการ
  • เงินสำรองฉุกเฉิน มีเตรียมไว้ใช้กรณีฉุกเฉินไหม ต้องมีสำรองไว้นะครับ
ผมลองยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นว่า เราก็สามารถตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเราเองได้ จะได้รู้ตัวเราเองอยู่เสมอถ้าหากเราไม่สนใจ ใช้เงินเพลินไม่ดูแล ไม่วางแผน สุดท้ายก็เป็นหนี้สิน ทำงานแต่ละเดือนเพื่อใช้หนี้เท่านั้น ไม่มีเงินเก็บ มันก็เหมือนเราใช้ร่างกายไม่ดูแล กินทุกอย่างที่ใจอยาก มารู้ตัวอีกทีก็เป็นโรคร้าย รักษาไม่หายแล้ว
ผมว่าเราเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ เราต้องรู้ว่าตัวเองสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร คุณอยากจะร่ำรวย มั่งคั่งในวันข้างหน้า วันนี้ก็ต้องรู้จักใช้ รู้จักออม หาช่องทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
สำหรับผมยังคงเป็นมนุษย์เงินเดือนมีรายได้หลักจากงานประจำ มีรายได้เสริมจากการเป็นนักเขียน และสร้างผลกำไรเพื่ออนาคตกับการลงทุนในกองทุนพวก LTF/RMF และหุ้นที่แบ่งเป็นประเภทถือยาวเพื่อกินปันผล และเก็งกำไรระยะสั้นเพื่อหาจังหวะทำกำไร ในส่วนรายจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นก็ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย เพราะเป้าหมายของผมคือ มีเงินไว้ใช้ตลอดทางจนถึงวัยเกษียณ และไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี จะได้ใช้เงินที่สร้างไว้ในวัยเกษียณเพื่อความสุข แต่ไม่ใช่ใช้เงินในวัยเกษียณเพื่อรักษาตัวเองในโรงพยาบาลครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา