มองโลกผ่านฟิลเตอร์ของ “เพิท Ad Addict” มนุษย์ที่ทุกอย่างในชีวิตคือโฆษณา

มองโลกผ่านฟิลเตอร์ของ “เพิท Ad Addict” มนุษย์ที่ทุกอย่างในชีวิตคือโฆษณา

By Krungsri Plearn Plearn

คำอธิบายของชายผู้นี้ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นคำว่า คนบ้า บ้าในที่นี้ไม่ใช่คำด่าหรือปรามาสแต่อย่างใด ค่อนไปทางคำชมเสียด้วยซ้ำ บ้าในสิ่งที่ตัวเองทำแบบเข้าเส้น “บ้าโฆษณา” ทำให้เพจ Ad-Addict ของเขาได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

สิ่งที่ทำให้จุดประกายความสนใจในเรื่องโฆษณาคืออะไร

ในช่วงที่กำลังเรียน ผมชอบที่จะไปประกวดทางด้านบริหารการตลาด ชอบการแข่งขัน พอเริ่มแข่งไปเรื่อย ก็ค้นพบตัวเองว่าชอบงานในสายนี้ ชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีอะไรให้ท้าทายตัวเองอยู่ตลอด ก็เลยถามรุ่นพี่ว่ามันมีอาชีพอะไรที่ใช่บ้าง ก็เลยรู้จักกับคำว่าเอเจนซี่โฆษณา

ตอนนี้ทำ Ad-addict เต็มตัวแล้วไหม

ตอนนี้เรียกว่าเต็มตัวแล้วครับ
เพิท Ad Addict

ผ่านงานอะไรมาบ้าง

ถ้าเอาตั้งแต่เริ่มคือ ฝึกงานในเอเจนซีโฆษณา ซึ่งในตอนแรกอยากเป็นครีเอทีฟ แต่เราไปเห็นคนที่เขาเป็นครีเอทีฟจริง ๆ เขาจะมีมุมมองวิธีคิดไปอีกขั้น แต่เราเป็นคนมีระบบวิธีคิดที่ต่างจากเขา ค่อนข้างจะมีระบบมากกว่าด้วย เลยรู้ว่าเราเป็นครีเอทีฟไม่ได้ (ฮา) เลยเปลี่ยนมาเป็นสาย Strategic Planner ซึ่งคิดว่ามันเป็นฐานอาชีพที่มั่นคง ในแง่ที่ว่าถ้าเราเข้าใจอาชีพนี้ เราสามารถนำมันไปต่อยอดได้เยอะ แล้วก็ต้องมีความครีเอทีฟในตัวอยู่เหมือนกัน หลัก ๆ แล้วคืออยู่ในวงการของเอเจนซี่โฆษณามาก่อนครับ

Ad-Addict เกิดขึ้นได้อย่างไร

จริง ๆ มันเป็นนิสัยส่วนตัวเลยที่จะเป็นคนติดตามข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจในวงการโฆษณา แล้วจะกดแชร์ในเฟซบุ๊กเอาไว้ดูคนเดียว แล้ววันหนึ่งก็คิดขึ้นได้ว่ามันต้องมีคนที่เสพติดเรื่องพวกนี้เหมือนกับเรา ก็เลยตั้งเพจขึ้นมาใหม่เป็น Ad-Addict ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่อยากทำ เลยทำ แล้วก็เปลี่ยนจากที่แชร์ไปเพจของตัวเอง มาเป็นเพจ Ad-Addict แค่นั้นเลย

ขั้นตอนการทำคอนเทนต์ในช่วงแรก ต่างกับตอนนี้อย่างไรบ้าง

พอทำมาเพจสักพักแล้วเราพบว่ามีหลายคำถามที่เราคุยกับพี่ในวงการเดียวกันไม่เข้าใจ คำบางคำ หรือเรื่องบางเรื่อง เราพบว่าคนที่อยู่ในวงการเอเจนซี่โฆษณาใช้เวลาเกิน 90% ไปกับการทำงาน ทำให้เขาไม่ค่อยเสพความรู้ด้านอื่นเพิ่มสักเท่าไหร่ ทั้งที่มันมีสื่อต่าง ๆ ที่เอาความรู้เรื่องพวกนี้มาแชร์ เราตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นเพราะอะไร หรือว่าภาษาที่เขียนเรื่องพวกนี้มันอ่านยากเกินไป เราเลยเริ่มที่จะเอาข้อมูลพวกนี้มาย่อยแล้วเรียบเรียงใหม่ ในภาษาที่เหมือนพูดคุยกับเพื่อน มีข่าวสารอะไรอัปเดต เอามาทำให้เป็นคอนเทนต์ที่มีคุณค่า มีประโยชน์มากขึ้น ซึ่งจากตอนนี้กับตอนแรก Ad addict ก็ยังคงเน้นในเรื่องของการทำคอนเทนต์ที่ค่อนข้าง Real-time เน้นความเร็ว
เพิท Ad Addict

มีช่วงหนึ่งเคยเกิดกระแสว่า “คนไทยไม่ชอบโฆษณา” คิดว่าอันนี้จริงหรือไม่

ผมมีความเชื่อที่ว่า ทุกอย่างในโลกล้วนเป็นโฆษณา ไม่ใช่ว่าคนไม่ชอบโฆษณา แต่เขาไม่ชอบโฆษณาที่ไม่ตรงตามความต้องการ ตรงกับความสนใจของเขา ดังนั้นผมว่าถ้ามันมีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งที่สื่อสารในเรื่องและจังหวะเวลาที่พอดีเขาก็พร้อมจะเปิดรับครับ

ณ ตอนนี้มองว่า Ad-Addict ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

เรื่องประสบความสำเร็จ มันขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งเป้าหมายไว้ที่ตรงไหน ถ้าผมตั้งไว้ที่มี 100,000 followers แล้วจะสำเร็จ ผมก็ประสบความสำเร็จแล้ว และถ้าคำถามคือคิดว่าสำเร็จแล้วหรือยัง ผมคิดว่าสำเร็จแล้วประมาณนึง เพราะที่ ถ้าไม่สำเร็จคงไม่ได้มาคุยกันอยู่ตอนนี้ (ฮา) แต่เรามองว่าความสำเร็จนี้มันจะต่อยอดเราไปความสำเร็จต่อไปได้อีก

เป้าหมายสูงสุดของ Ad-Addict ที่วาดฝันไว้คืออะไร

Ad-Addict ตอนนี้มันยังเป็นเวอร์ชั่นแรก ๆ เลย คิดว่ายังทำอะไรได้อีกเยอะมาก สักวัน Ad-Addict อาจจะมีอีเวนท์ของตัวเองก็ได้ แต่ถ้าเร็ว ๆ อาจจะมีการทำคอร์สสอนอะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องโฆษณา แต่ก็ยังไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจนว่าจะยังไงครับ

ชอบโฆษณาตัวไหนของกรุงศรีฯ มากที่สุด

จริง ๆ แล้วกรุงศรีเป็นแบรนด์ที่ผมจำ tagline ได้ตลอดนะว่าขายอะไร เพราะมันเข้าใจง่าย แล้วมันมีอันหนึ่งที่ทำเป็นรอยยิ้ม ของแคมเปญกรุงศรีอยู่นี่นะ ทุกเรื่องยากง่ายได้ แคมเปญนี้สื่อสารแบรนด์ได้ดีมาก เปรียบเทียบกับทุกอย่างในชีวิต ทำไห้ดูแตกต่างกับเจ้าอื่น และมีอีกอันที่ตราตรึงผมที่สุด คือน้องกล้วย ที่เป็นมาสคอตในคลิปจ่ายร้อยเต้นล้าน (ฮา) อันนั้นสุดยอดมาก มันได้ผลยิ่งกว่าการทุ่มงบประมาณเป็นสิบล้าน ทำหนังสวย ๆ เสียอีก คนจดจำได้มากกว่า

คิดว่าในอนาคต วงการโฆษณาในไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง

คิดว่าวงการโฆษณาไทยกำลังหมดยุคแมสแล้ว การสื่อสารที่หว่านเอาทุกกลุ่มเป้าหมายจะหมดยุคของมันไป และจะเข้าสู่ยุคที่เฉพาะกลุ่ม เราต้องการจะคุยกับใคร ต้องการจะเจาะกลุ่มเป้าหมายไหนชัดไปเลย ยกตัวอย่างเช่น คอนเทนต์ของ Ad Addict เอง เราก็จะกำหนดเลย ว่าอยากให้คนไหนเสพเป็นกราฟิกดีไซน์หรือเปล่า เป็นนักการตลาดหรือเปล่า มันต้องชัดเจนว่าคนที่เราจะสื่อสารด้วยคือใคร ซึ่งมันส่งผลให้คนที่ทำงานในวงการโฆษณาต้องทำงานหนักขึ้น เพราะมันไม่สามารถสื่อสารแบบ one fit all ได้อีกต่อไปแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2564 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow