7 เคล็ดลับให้เหลือเงินเก็บตอนสิ้นเดือน
เพื่อชีวิตสบาย
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

7 เคล็ดลับให้เหลือเงินเก็บตอนสิ้นเดือน

icon-access-time Posted On 12 ตุลาคม 2559
By Krungsri Academy

หนุ่มสาวมนุษย์เงินเดือนแบบเรา ๆ หลายคนคงกำลังประสบปัญหาในการใช้เงินเดือนชนเดือนตลอดเวลา อย่าถามหาเงินเก็บให้ช้ำใจ แค่ใช้พอในแต่ละเดือนก็เต็มกลืน บางเดือนยังไม่ทันจะถึงสิ้นเดือนเลยเงินก็บินหนีไปก่อนแล้ว เรียกได้ว่าชักหน้าไม่ถึงหลังเป็นประจำ อยากมีเงินเก็บกับเขาบ้างแต่ก็ทำไม่เคยได้ ได้แต่คิดวนไปเวียนมาเป็นร้อยตลบ ไม่เป็นไรค่ะวันนี้เรามี 7 เคล็ดลับดี ๆ ให้เหลือเงินเก็บตอนสิ้นเดือนมาฝาก ขอเพียงแค่คุณมีใจสู้และมุ่งมั่นที่จะทำ แค่นี้ก็สำเร็จไปครึ่งทางแล้ว เอ้า...ฮึบ..ลุย !!!!!

แบ่งเงินเป็นส่วน ๆ ตั้งแต่ต้นเดือน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณไม่มีเงินเก็บ อาจมาจากการที่เมื่อได้รับเงินเดือนมาแล้วไม่มีการวางแผนหรือจัดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายให้เป็นสัดส่วน พอรู้ตัวอีกทีก็ใช้เพลินจนเงินเกลี้ยงกระเป๋า เอาใหม่นะคะพอได้เงินเดือนมาต้องแยกค่าใช้จ่ายประจำแต่ละเดือนไปเลย เช่น ค่าหอ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าซื้อของใช้ส่วนตัว ค่าเดินทาง ค่ากิน ฯลฯ เราจะได้สามารถคำนวณได้ว่าแต่ละเดือนเราเหลือเท่าไร จะได้วางแผนในการออมเงินถูก หรือถ้าไม่เหลือก็จะได้จัดสรรเงินใหม่ให้ลงตัวกว่าเดิม

ห่อข้าวไปกินที่ทำงาน

ใครที่กำลังอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนลองห่อข้าวไปกินที่ทำงานดู รับรองมีเงินเก็บเพิ่มแน่นอน อาจจะเสียเวลาหน่อยแต่แสนจะคุ้มค่า ไม่เพียงประหยัดเท่านั้นอาหารยังรสชาติถูกปาก สามารถครีเอทเมนูได้หลากหลายตามใจชอบ ซ้ำยังถูกสะอาดถูกหลักอนามัย ไม่ต้องฝ่าแดดเดินไปรอคิวแถวที่ทำงาน ยิ่งถ้าใครกำลังควบคุมอาหารแล้วล่ะก็การห่อข้าวไปกินเองเป็นตัวเลือกที่เยี่ยมสุด ๆ ไปเลย

เปลี่ยนจากนั่งรถมาเป็นเดิน

ถ้าระยะทางใกล้ ๆ เช่น จากที่ทำงานออกมาป้ายรถเมล์ หรือลงจากรถแล้วเข้าซอยบ้าน จากที่เคยนั่งพี่วินมอเตอร์ไซค์เป็นประจำ ลองเปลี่ยนมาเป็นเดินเรื่อย ๆ ดูบรรยากาศ 2 ข้างทาง ถือโอกาสสำรวจเส้นทาง ร้านอาหารอร่อย ๆ ไปในตัว ประหยัดเงินค่าพี่วินแถมยังได้ออกกำลังกายอีกต่างหาก ยิ่งถ้าเดินให้ถูกวิธี เผาผลาญแคลอรี่ไปได้เยอะเลยนะคะ

ตัดใจไม่ช้อป

พอเงินเดือนออกหัวใจก็ฟูฟ่อง เจอของถูกใจไอเทมออกใหม่เป็นไม่ได้เหมือนโดนดูดวิญญาณ บางทีกลับถึงบ้านยังงงนี่ฉันซื้ออะไรมา แล้วพอสิ้นเดือนก็ร้องไห้วนไป เรามาเริ่มตั้งสติก่อนสตาร์ทกันใหม่นะคะ บอกตัวเองให้ตัดใจ เสื้อผ้าในตู้บางตัวซื้อมายังไม่ได้ใส่ เครื่องสำอางซื้อจนไม่มีที่วาง ของอะไรที่ไม่จำเป็นเราก็ยังไม่ต้องซื้อ ลองตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นแรงจูงใจ เช่น สิ้นปีฉันค่อยซื้อของขวัญชิ้นใหญ่ให้ตัวเอง หรือถ้าใครอดใจไม่ได้จริง ๆ อาจจะลดจากซื้อทุกเดือน เดือนละหลายชิ้น มาเป็นเดือนละชิ้นแล้วค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ หัวใจคุณก็จะเริ่มสตรองไม่หวั่นแม้ต้องเดินผ่านร้าน

มองหาของลดราคา

จดรายการของที่จำเป็นต้องซื้อจำพวกสบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และของใช้ส่วนตัวเอาไว้ เวลาจะซื้อสินค้าลองเดินสำรวจราคาในตลาดเปรียบเทียบคุณภาพ ปริมาณ และราคาก่อนตัดสินใจ ยิ่งเดี๋ยวนี้ร้านค้าแข่งกันจัดโปรโมชั่นกระหน่ำลดราคาเรียกลูกค้ากันทุกร้าน คุณจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายราคาเต็ม ส่วนลดเล็กน้อยเหล่านั้นพอมารวมกันคุณก็จะมีเงินเก็บเพิ่มอีกโข ทริกแนะนำ คือ ให้ไลค์เฟซบุ๊กเพจหรือโหลดแอปฯ ของห้างร้านมาไว้ คุณจะได้ไม่พลาดสินค้าราคาสบายกระเป๋า

เลิกนิสัยกินจุกจิก

เคยคำนวณเงินไหมคะว่าเราสูญเสียกันไปเท่าไรกับขนมจุกจิกที่กินในแต่ละวัน ไหนจะขนมขบเคี้ยว เค้ก ชา กาแฟ น้ำอัดลม ลูกชิ้นปิ้ง เผลอ ๆ จะมากกว่าค่าข้าวด้วยซ้ำไป ถ้าเลิกตรงนี้ได้คุณก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น และยังสุขภาพดีไม่อ้วนอีกต่างหาก ถ้าคุณหิวระหว่างวันอาจจะเลือกทานผลไม้แทนหรือรับของว่างเป็นเวลาไปเลย ไม่ซื้อจุกจิกทั้งวันเพราะจะทำให้คุณเสียเงินไปมากโดยไม่รู้ตัว

ยกเลิกบัตรสมาชิก

ลองสำรวจตัวเองกันดู ถ้าคุณมีบัตรสมาชิกที่ต้องเสียเงินต่ออายุรายเดือนหรือรายปี เช่น ฟิตเนส คลับต่าง ๆ เป็นต้น แต่คุณไม่มีเวลาไปใช้บริการหรือไปใช้มากสุดแค่เดือนละครั้ง แนะนำให้ไปยกเลิกดีกว่าค่ะ เอาเงินตรงนั้นมาเป็นเงินเก็บดีกว่าปล่อยให้เสียไปฟรี ๆ
จริง ๆ การใช้เงินให้เหลือเก็บในแต่ละเดือนไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องมีใจจะทำ ตั้งเป้าหมาย และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง ที่ขาดไม่ได้เลย คือ คุณจะต้องมีวินัยในการเก็บเงินทำให้เป็นนิสัย เท่านี้คุณก็จะมีเงินเก็บ บอกลาสถานการณ์ใช้เงินเดือนชนเดือนแน่นอนค่ะ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา