6 วิธีสังเกตหุ้นพื้นฐานดีแบบง่าย ๆ
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

6 วิธีสังเกตหุ้นพื้นฐานดีแบบง่าย ๆ

icon-access-time Posted On 07 กุมภาพันธ์ 2563
By Krungsri The COACH
ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้ นักลงทุนหลายคนก็คงวิตกไปตาม ๆ กันว่าจะลงทุนในหุ้นตัวไหนดี ผมขอแนะนำให้ลองมาดูหุ้นพื้นฐานดีกันครับ เพราะหุ้นพื้นฐานดีจะไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาวะของตลาดมากนัก การลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี ทำให้ความตึงเครียดของนักลงทุนลดลงเพราะไม่ต้องมากังวลกับภาวะผันผวนมาก มาถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วหุ้นพื้นฐานนี้หน้าตาเป็นแบบไหน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นพื้นฐานดี ? ผมมีคำตอบมาฝากครับ มาดู 6 วิธีสังเกตหุ้นพื้นฐานดีแบบง่าย ๆ กันเลยครับ
6 วิธีสังเกตหุ้นพื้นฐานดีแบบง่าย ๆ

1. มีการเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปี


บริษัทที่ดีที่น่าลงทุนควรมียอดขายหรือรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อเป็นตัวบ่งบอกว่าบริษัทยังเติบโตต่อได้และยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งก็คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตบริษัทก็คงมีรายได้มากขึ้นอีก นักลงทุนเองก็สามารถสบายใจได้ว่าในปีต่อไปก็มีโอกาสสูงที่จะได้กำไร

2. บริหารธุรกิจได้ดี มีกำไรสม่ำเสมอ


บริษัทดีที่น่าลงทุนควรมีกำไร ตั้งแต่กำไรขั้นต้นไปจนถึงกำไรสุทธิซึ่งเป็นกำไรขั้นสุดท้ายที่บริษัทจะได้ และมีกำไรสม่ำเสมอมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ซึ่งผลกำไรควรได้มาจากการขายสินค้าและบริการหลักของบริษัท เนื่องจากจะเป็นผลดีกับบริษัทในระยะยาวเพราะเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่อง เพราะการปรับตัวขึ้นของราคาจะเป็นไปได้ยาก และอาจจะไม่มีเงินปันผลเหลือให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย แต่ในบางกรณี บริษัทก็เอาเงินไปลงทุนจนทำให้เกิดการขาดทุน แต่จะส่งผลดีต่อบริษัทในระยะยาว ซึ่งก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

3. ธุรกิจมีจุดแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน


การลงทุนระยะยาวจำเป็นต้องมองให้เห็นภาพอนาคตการเติบโตของบริษัท ต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโต จุดแข็ง และความสามารถในการแข่งขันของบริษัท บริษัทที่คุณจะเลือกลงทุนด้วยต้องมีความสามารถที่จะแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งและทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อจะได้มีส่วนแบ่งในตลาดมาก บริษัทที่ว่านี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่งของตลาดก็ได้แค่ต้องมีกำลังในการแข่งขันอย่างยั่งยืน หรือหากเป็นธุรกิจหน้าใหม่หรือมีคู่แข่งน้อยรายได้ก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่าจะได้เปรียบด้านการแข่งขันมากขึ้น
6 วิธีสังเกตหุ้นพื้นฐานดีแบบง่าย ๆ

4. อัตราส่วนหนี้สินต่อต้นทุนไม่สูง


บริษัทที่จะลงทุนควรมีสภาพคล่องดี มีเงินทุนหมุนเวียนพอสมควร และไม่ควรมีหนี้สินระยะยาวมากเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการผ่อนชำระหนี้ และเกิดปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามมาได้ เพราะหนี้ระยะยาวจะส่งผลให้ “อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน” (D/E Ratio) มากเกินไป อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเป็นการวัดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินทั้งหมดที่บริษัทมี กับส่วนของเจ้าของที่เป็นเงินลงทุนและกำไรสะสมของบริษัท หากมีค่ามากกว่า 1 เท่า หมายความว่าบริษัทดำเนินธุรกิจด้วยการกู้ยืมมากกว่าใช้เงินทุนจากเจ้าของซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะหากมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนมาก เมื่อขาดสภาพคล่องหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะเกิดปัญหาทันทีและอาจเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องได้ หากบริษัทไม่มีความสามารถในการทำกำไรและยังมีหนี้สินสูง ก็อาจก่อให้เกิดการขาดทุนสะสมและต้องปิดกิจการลงในที่สุดนะครับ

5. กำไรสะสมเพิ่มต่อเนื่อง


กำไรสะสมก็คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่เกินกว่าเงินลงทุนที่ผู้ถือหุ้นนำมาลงในบริษัท โดยกำไรสะสมจะเกิดจากการดำเนินงานเพื่อผลกำไรของบริษัท ซึ่งเป็นกำไรที่เหลืออยู่นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งบริษัทเป็นต้นมา หุ้นพื้นฐานดีจำเป็นต้องมีกำไรสะสมเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพราะกำไรสะสมเป็นส่วนที่บริษัทสามารถนำไปลงทุนต่อยอดเพื่อทำให้กิจการเติบโตขึ้นได้ และเงินส่วนนี้สามารถนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย
6 วิธีสังเกตหุ้นพื้นฐานดีแบบง่าย ๆ

6. ทีมผู้บริหารโปร่งใส มีการกำกับกิจการที่ดี


ก่อนจะเลือกลงทุนในบริษัทใด ๆ นักลงทุนจะต้องศึกษาประวัติของผู้บริหารบริษัทนั้น ๆ ก่อนตัดสินใจ บริษัทที่ควรลงทุนด้วยจะต้องมีผู้บริหารที่บริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดเผย ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และสามารถตรวจสอบได้ โดยการบริหารงานจะต้องสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี เพราะต้นทุนส่งผลต่อผลกำไรโดยตรงนะครับ
หากอยากครอบครองหุ้นพื้นฐานดี ผมแนะนำว่าต้องค่อย ๆ ศึกษาแต่ละองค์ประกอบให้ถี่ถ้วน อย่าใจร้อนเกินไปนะครับ เพราะหากคุณมีหุ้นพื้นฐานดีไว้ในครอบครองแล้ว ความกังวลของคุณที่มีต่อสภาวะของตลาดจะลดลงมาก อยากเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จทำได้ไม่ยาก อย่าลืม 6 วิธีการสังเกตหุ้นพื้นฐานดีแบบง่าย ๆ ที่ผมแนะนำไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นแบบไหน ก็ผ่านไปได้ฉลุยแน่นอนครับ
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: set.or.th, brandinside.asia, doithai.com/, cad.go.th, moneywecan.com
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา