5 ขั้นตอนการเลือกกองทุนที่ดีสำหรับคุณ
รอบรู้เรื่องลงทุน
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 ขั้นตอนการเลือกกองทุนที่ดีสำหรับคุณ

icon-access-time Posted On 12 กันยายน 2559
By Krungsri Guru
การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หรือที่เรียกกันติดปากว่า ซื้อกองทุน เป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนที่ได้รับความนิยมสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดการลงทุนตลอดเวลา รวมถึงนักลงทุนที่ต้องการได้รับผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีของกองทุน LTF/RMF ทั้งนี้ ด้วยความนิยมที่สูงขึ้น ทำให้กองทุนใหม่ ๆ มีจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จนนักลงทุนมือใหม่สับสน เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มที่ตรงไหนดี วันนี้ เรามี 5 ขั้นตอนในการเลือกกองทุนมาฝากกันครับ

1. ถามความต้องการของตัวเอง ความเสี่ยงที่สามารถรับได้ และระยะเวลาในการลงทุน


เพราะวัตถุประสงค์ของการลงทุนของแต่ละคนย่อมต่างกัน หากเป็นเงินก้อนที่มีความจำเป็นต่อการใช้จ่ายในอนาคต สามารถรับความเสี่ยงของการขาดทุนเงินต้นได้น้อย ก็ควรลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนพันธบัตร หากเป็นเงินลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินก้อนภายในระยะเวลา 7 ปีขี้นไป ก็ควรเลือกลงทุนใน LTF เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนจากกองทุน รวมทั้งรับผลประโยชน์ทางภาษี หรือหากสามารถรับความเสี่ยงได้สูง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนหุ้น, กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ หากต้องการได้รับเงินปันผลในระหว่างปี เราก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายปันผลได้เช่นกันครับ

2. ดูแนวโน้มตลาด


เป็นที่ทราบกันว่า ผลตอบแทนการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามราคาของสินทรัพย์ในกองทุน เช่น การซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็ควรดูแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยประกอบด้วย เช่น เลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หากคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะสูงขึ้น สำหรับการลงทุนในกองทุนหุ้น บางช่วงเวลาหุ้นต่างประเทศอาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนหุ้นภายในประเทศ หรือบางช่วงเวลาการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่น ทองคำ น้ำมัน ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในหุ้น การเลือกลงทุนให้สอดคล้องกับแนวโน้มตลาด ย่อมทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นครับ

3. เสาะหากองทุนที่ใช่


จากขั้นตอนที่ 1 และ 2 เมื่อเรานำความต้องการในการลงทุนมาจับคู่กับแนวโน้มตลาดเพื่อเลือกประเภทกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ในระดับความเสี่ยงที่รับได้แล้ว ขั้นต่อไป เราก็มาลงรายละเอียดเพื่อเลือกกองทุนครับ เพราะถึงแม้จะเป็นกองทุนประเภทเดียวกัน แต่ก็มีความหลากหลายในนโยบายการลงทุน เช่น กองทุนหุ้นต่างประเทศ ก็มีการลงทุนในหลายประเทศ เช่น กองทุนหุ้นยุโรป กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นญี่ปุ่น หรือกองทุนหุ้นในประเทศก็มีหลายวัตถุประสงค์ เช่น กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นปันผล กองทุนหุ้นที่ลงทุนในสถาบันการเงิน กองทุนที่ลงทุนในหุ้นภายใน SET50 หรือแม้แต่กองทุน RMF เองก็มีหลายนโยบายการลงทุน เช่น RMF ที่ลงทุนในพันธบัตร RMF ที่ลงทุนในหุ้น ไปจนถึง RMF ที่ลงทุนในธุรกิจสุขภาพในต่างประเทศ

4. เปรียบเทียบกองทุน


ถึงขั้นตอนนี้ เราควรจะได้รายชื่อของกองทุนที่เราสนใจแล้ว โดยเราจะพบกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกัน เช่น กองทุนหุ้นที่เน้นหุ้นปันผลเหมือนกัน แต่ถูกจัดตั้งจากสถาบันการเงินที่ต่างกัน ซึ่งย่อมให้ผลตอบแทนแตกต่างกัน โดยเราสามารถใช้หลักการหลาย ๆ อย่างประกอบกันเพื่อเลือกกองทุนที่ดีครับ เช่น เปรียบเทียบนโยบายการลงทุน ดูจากผลการดำเนินงานในอดีตย้อนหลังเปรียบเทียบกับ benchmark เพื่อสะท้อนความสามารถของผู้จัดการกองทุน ขนาดของกองทุน บริษัทจัดตั้งกองทุนที่มีความน่าเชื่อถือ ซื้อขายง่าย หรืออาจจะดูจากการจัดอันดับกองทุน เช่น จาก Morning Star Fund House นอกจากนี้ อย่าลืมดูค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับด้วยนะครับ

5. เข้าซื้อในเวลาที่เหมาะสม


ราคาหน่วยลงทุนย่อมมีขึ้นลงตามราคาสินทรัพย์ การเข้าซื้อกองทุนหุ้นในช่วงที่หุ้นราคาตกก็ย่อมทำให้เราได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ทั้งนี้เพื่อลดความกังวลใจในการหาจังหวะเข้าซื้อกองทุน นักลงทุนอาจใช้วิธี DCA (Dollar Cost Averaging) หรือการซื้อถัวเฉลี่ย เช่น แบ่งเงินซื้อกองทุน LTF/RMF ทุกเดือนตลอดทั้งปี เพื่อทำให้ได้กองทุนในราคาเฉลี่ยนั่นเองครับ ถึงจะไม่ใช่ราคาถูกที่สุด แต่ก็จะไม่ใช่ราคาที่แพงที่สุดเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนสำคัญในการเลือกกองทุน คือ ต้องรู้ความต้องการ และระดับความเสี่ยงของตัวเอง จากนั้นจึงหาข้อมูลในตลาด เพื่อหากองทุนที่ตอบโจทย์ของเราครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา