ต้องอ่าน!! ถ้าคิดจะซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

ต้องอ่าน!! ถ้าคิดจะซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี

icon-access-time Posted On 12 พฤศจิกายน 2564
by Krungsri The COACH
การลดหย่อนภาษีมีหลากหลายรูปแบบและการลดหย่อนด้วยประกันชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นการบริหารจัดการเงินที่ดีแล้ว ยังส่งเสริมการจัดการความเสี่ยงเพื่อตนเองและครอบครัวในระยะยาวอีกด้วย
ทว่า ประกันชีวิตก็มีมากมาย กรรมธรรม์แต่ละฉบับก็เหมาะสมกับแต่ละคนมากน้อยแตกต่างกันออกไป และนี่คือสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี
 

1. เข้าใจ “ประกันชีวิต” และ “การลดหย่อนภาษี”

สาเหตุที่ประกันชีวิตนั้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากตัวของประกันนั้นถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในการออมที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดภาระต่างๆ ได้ในระยะยาว หากเกิดการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ทางครอบครัวและลูกหลานก็ยังได้สินไหมทดแทน ทำให้คนเหล่านั้นสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

ประกันชีวิตที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้นมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
  • ประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีตามจำนวนจ่ายจริงสูงสุดได้ 100,000 บาท โดยมีรูปแบบย่อยคือประกันชีวิตชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตตลอดชีพ และประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่แตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของการทำประกัน
  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีตามจำนวนจ่ายจริงไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีสูงสุด 200,000 บาท** (เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ กบข. เงินที่ลงทุนในกองทุนรวม RMF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

นอกเหนือจากประกันชีวิตแล้ว ประกันสุขภาพก็เป็นประกันอีกประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยตัวของประกันสุขภาพก็จะมีความหลากหลายเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้ที่สนใจทำประกัน โดยแบ่งออกได้ดังนี้
  • แบบประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล อันเกิดจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ
  • แบบประกันภัยอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ
  • แบบประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • แบบประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
  • แบบประกันสุขภาพประเภท UDR (Unit Deducting Rider) ที่เป็นประกันสุขภาพซื้อร่วมกับประกันชีวิตแบบ Unit-linked สามารถนำส่วนที่เป็นธรรมเนียมเพื่่อคุ้มครองสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้

ส่วนของเบี้ยประกันสุขภาพ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปต้องไม่เกิน 1 แสนบาท โดยผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีด้วยประกันสุขภาพจำเป็นต้องแจ้งบริษัทประกันเพื่อนำข้อมูลเข้าสู่สรรพากร

 
ประเภทประกันชีวิต เป้าหมายการทำประกันชีวิต สิทธิลดหย่อนภาษี
ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา
  • คุ้มครองชีวิตระยะสั้น
  • คุ้มครองชีวิตจากความเสี่ยง
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตตลอดชีพ
  • คุ้มครองชีวิตตลอดชีพ หรือตามสัญญา
  • ออมเงินเพื่อใช้ในยามชราหรือเมื่อหมดสัญญา
  • เป็นค่าใช้จ่ายหรือมรดกให้กับครอบครัวหรือญาติเมื่อเสียชีวิต
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
  • เพื่อออมเงินพร้อมกับได้รับการคุ้มครอง
  • เพื่อออมเงินให้บุตรหลาน
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • เพื่อออมเงิน
  • เพื่อให้มีเงินใช้ในยามชราไปจนกว่าจะเสียชีวิตหรือหมดสัญญา
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน
*หากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาทแรก สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท
** เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ กบข. เงินที่ลงทุนในกองทุนรวม RMF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

2. ประกันชีวิตคือการลงทุนเพื่ออนาคตข้างหน้า

หากพูดถึงการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีแล้ว หลายคนอาจคิดถึงการลงทุนในกองทุน เช่นกองทุน SSF และ RMF และอาจคิดว่าถ้าเราได้ลงทุนในกองทุนเหล่านั้นอยู่แล้ว การทำประกันคงไม่ใช่สิ่งจำเป็น
 
ต้องอ่าน!! ถ้าคิดจะซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี

แต่แท้จริงแล้ว ประกันและกองทุนนั้นแตกต่างกันมากพอสมควร สิ่งที่ประกันชีวิตนำเสนอคือ Protection ที่คอยป้องกัน บริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของคุณ ทำให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดเรื่องไม่คาดฝันทั้งการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็สามารถดำเนินชีวิตต่อได้หรือมีทุนทรัพย์รองรับไว้ ส่วนการลงทุนในกองทุนคือการต่อยอดทางการเงินเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น ถ้าหากมีทุนทรัพย์มากพอ ขอแนะนำให้แบ่งสัดส่วนเงิน ทั้งในส่วนของการทำประกัน การฝากเงินเพื่อสภาพคล่อง และการนำเงินไปลงทุนเพื่อต่อยอดซึ่งจะช่วยทั้งการบริหารความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสทางการเงินไปพร้อมๆ กัน
 

3. การจ่ายเบี้ยประกันไม่ใช่แค่เยอะแต่ต้อง “เหมาะสม”

การจ่ายเบี้ยประกันเยอะมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี การเลือกกรมธรรม์ควรเลือกแบบที่จ่ายเบี้ยประกันได้เหมาะสมกับรายรับและการใช้ชีวิตของแต่ละคน โดยเบี้ยประกันรวมรายปีนั้นไม่ควรเกิน 10% ของรายรับรวมทั้งปี
 
ตัวอย่าง หากได้รายรับรวม 300,000 บาทต่อปี เบี้ยประกันที่เหมาะสมจะอยู่ที่ราว 30,000 บาท ทั้งนี้ ควรพิจารณาวงเงินรวมถึงเงื่อนไขอื่นประกอบเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ด้วย
 
สำหรับท่านที่สนใจต้องการตรวจสอบความคุ้มครองและเบี้ยประกันชีวิตในรูปแบบต่างๆ ทางกรุงศรีมีบริการประกันชีวิตมากมายครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนชีวิตเบื้องต้น ประกันแบบมีเงินปันผล จนถึงประกันตลอดชีพที่พร้อมให้ความคุ้มครองกับคุณควบคู่ไปกับการลดหย่อนภาษี โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ ประกันชีวิตจากกรุงศรี มีไว้อุ่นใจยิ่งขึ้น
 

4. เข้าใจ “เงื่อนไข” ของกรมธรรม์

ประกันชีวิตแต่ละแบบมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปซึ่งก็มีรายละเอียดมากมายตามรูปแบบของกรมธรรม์ที่ทำเอาไว้ สิ่งที่ควรรู้และสังเกตก่อนทำประกัน คือ
  • การกำหนดผู้รับผลประโยชน์ของกรมธรรม์
  • ข้อกำหนดการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์
  • สิทธิในการจ่ายหรือไม่จ่ายสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ นอกเหนือจากนั้นคือสิทธิอื่นๆ ได้แก่
  • สิทธิในการยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตในระยะเริ่มแรก (Free look period) 

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ควรทำประกันกับบริษัทประกันที่มีความน่าเชื่อถือ เครดิตดี และได้รับการยอมรับ สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับประกันรวมถึงการวางแผนการเงินได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจะทำให้คุณมั่นใจในกรมธรรม์ต่างๆ ได้มากขึ้น
 
ต้องอ่าน!! ถ้าคิดจะซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี
 

5. ชีวิตที่ดีมาพร้อมกับสุขภาพที่ดี

ประกันชีวิตเพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมถึงความต้องการของคนยุคใหม่ การมีประกันสุขภาพที่ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเจ็บเบา เจ็บหนักก็สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้
 
แน่นอนว่าการรักษาสุขภาพของตนเอง การออกกำลังกาย และการทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทว่า การมีสุขภาพดีก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ควรนิ่งนอนใจมากนัก ยิ่งเรามีสุขภาพดียิ่งต้องทำประกัน เนื่องจากประกันบางแบบหากปล่อยไว้นานๆ จนอายุเยอะ มีโรครุมเร้าบริษัทอาจไม่รับทำประกัน ทำให้เสียโอกาสที่ควรได้รับไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีโรคร้ายรายล้อมอยู่มากมายและค่ารักษาอาจสูงถึงหลักแสนหลักล้านได้ การเลือก “ป้องกัน” มากกว่า “แก้ไข” ย่อมดีกว่า
 
สำหรับผู้ที่ต้องการการคุ้มครองด้านสุขภาพแบบครอบคลุมทุกด้าน สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ไม่ว่าคุณจะเป็นฟรีแลนซ์ มนุษย์เงินเดือน หรือคนที่กำลังจะสร้างครอบครัว การมีประกันสุขภาพเคียงคู่ไปกับประกันชีวิตถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคง โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
 

6. “ตอบคำถามสุขภาพ” เรื่องสำคัญที่คนอยากทำประกันควรรู้

ทำไม “คำถามสุขภาพ” จึงเป็นสิ่งที่คนเอ่ยถึงทุกครั้งเมื่อพูดถึงประกันภัย ซึ่งแม้แต่ในโฆษณายังต้องให้ความสำคัญ นั่นเป็นเพราะว่าประกันมีหน้าที่คุ้มครองผู้คนตามความเสี่ยง “ก่อน” ที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำเสนอกรมธรรม์ที่เหมาะสมและครอบคลุมตัวคุณได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต
 
หากตอบคำถามสุขภาพไม่ตรงกับความเป็นจริง เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ความคุ้มครองที่ควรได้รับก็อาจไม่ครอบคลุมเนื่องจากไม่ตรงกับเงื่อนไขบางอย่างในกรมธรรม์ หรือไม่สามารถเบิกเงินประกันได้เนื่องจากให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ

สรุป
การซื้อประกันชีวิตสำหรับลดหย่อนภาษีเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกสำหรับการลดหย่อนทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังมีจุดประสงค์ในการคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในชีวิต หากมีการบริหารจัดการการเงินได้ดี รวมถึงมีการลงทุนต่างๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการลดหย่อนภาษีและมีการรองรับความเสี่ยงเพื่อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นมากขึ้นได้
 
หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันชีวิตแบบบำนาญหรือต้องการการวางแผนประกันชีวิตอย่างเป็นระบบ สามารถติดต่อที่ปรึกษาด้านการลงทุนผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่ 02-296-5959 จันทร์ - ศุกร์ 9.00 น. - 17.00 น.
บทความโดย
สิรภัทร เกาฏีระ CFP®
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา