หุ้นญี่ปุ่นหมดรอบขาขึ้นหรือยัง?


ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด



ในช่วงก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว โดยได้แรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาก

อย่างไรก็ดี การประชุมคณะกรรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางได้มีมติขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 0.0% - 0.1% นับเป็นการยุติการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มาต่อเนื่องราว 8 ปี หลังสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นมีมติขึ้นค่าจ้าง 5.28% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 33 ปี และสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 3.9% ทั้งนี้ ธนาคารกลางประเมินว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงอาจส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังได้ยุติการตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี พร้อมทั้งทยอยลดการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว และยกเลิกการเข้าซื้อกองทุนดัชนี (ETF) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น (J-REIT)

การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถึงแม้เป็นการปรับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี แต่ก็เป็นสิ่งที่ตลาดคาดไว้อยู่แล้ว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงถือว่าเป็นเพียงการลดการใช้นโยบายผ่อนคลายเท่านั้น ไม่ได้ถือเป็นการคุมเข้มทางการเงิน ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นยังย้ำว่า นโยบายการเงินในภาพรวมจะยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไป และระบุว่า ธนาคารกลางสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในอนาคต แต่ไม่ใช่ในเร็วๆนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมหรือเดือนตุลาคม

หลังการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับตอบรับในเชิงบวก เนื่องจากนอกจากเป็นสิ่งที่ตลาดไว้อยู่แล้ว นักลงทุนยังคลายกังวลหลังมีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่านโยบายการเงินของญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไป
นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในตลาดโลกส่วนใหญ่ประเมินว่า จากระดับดัชนีในปัจจุบัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีอัพไซด์ไม่มากหลังจากตลาดปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับความเห็นของนายวอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ นักลงทุนชั้นนำของโลก ที่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น รวมถึงความคาดหวังต่อผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง และการกระตุ้นจากภาครัฐให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์นำเงินมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่น นำเงินไปลงทุน หรือนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้มากขึ้น

จากมุมมองเกี่ยวกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่มีทิศทางค่อนข้างแตกต่างกัน และนับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 25 มีนาคม ดัชนีนิคเคอิ 225 ของญี่ปุ่นปรับขึ้นมาแล้วกว่า 20% และหากนับย้อนหลังไป 1 ปี ปรับตัวขึ้นมากกว่า 47% น่าจะส่งผลให้นักลงทุนกังวลมากขึ้นว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวขึ้นต่อหรือว่าน่าจะอยู่ที่ใกล้จุดสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่สำคัญได้แก่ ค่าเงินเยน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนจะส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นมีกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าเงินเมื่อบริษัทลูกที่อยู่ในต่างประเทศส่งเงินกลับประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมากจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ และล่าสุด (ณ วันที่ 26 มีนาคม 2567) ค่าเงินเยนอ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี ส่งผลให้รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นระบุว่า อาจมีมาตรการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อไม่ให้ค่าเงินเยนอ่อนค่ามากเกินไป อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมา การแทรกแซงค่าเงินเยนส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นๆเท่านั้น ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลให้ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าในระยะนี้ได้แก่ บริษัทลูกของญี่ปุ่นจะเริ่มทยอยส่งเงินกลับประเทศหลังสิ้นสุดเดือนมีนาคม เนื่องจากจะเป็นช่วงปิดรอบปีบัญชีของญี่ปุ่น ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆที่ปิดรอบปีบัญชีในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ดี คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทต่างๆได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงอาจส่งผลต่อค่าเงินไม่มากนัก แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นเลย โดยข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา ดัชนีนิคเคอิของญี่ปุ่นมักจะปรับลงในช่วงเดือนเมษายนในเกือบทุกปี จากผลของการแข็งค่าของเงินเยนและการขายทำกำไรหลังบริษัทต่างๆทยอยรายงานผลประกอบการ สำหรับในระยะยาว การที่ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักทยอยปรับลดดอกเบี้ย ในขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม จะส่งผลให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยแคบลง และส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น

หากนักลงทุนยังไม่มั่นใจถึงทิศทางตลาด นักลงทุนอาจรอดูสถานการณ์หรือรอให้ตลาดปรับตัวลงมาอยู่ในจุดที่สามารถคาดหวังผลตอบแทนได้มากขึ้น ทั้งนี้ มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจประกาศลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด และธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจประกาศขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่ายาวนานกว่าที่คาด และส่งผลดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น และยังมีปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลบวกหรือผลลบต่อตลาด เช่น การฟื้นตัวของการค้าโลก การเติบโตของบริษัทญี่ปุ่นจากการนำเงินออกมาใช้ลงทุนมากขึ้น การเพิ่มอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามและศึกษาข้อมูลอย่างใกล้ชิด

บลจ.กรุงศรี แนะนำกองทุน KF-HJAPAND, KFJPINDX-A, KFJPSCAP-A, KF-JPSCAPD และ KFJAPANRMF
พบทุกคำตอบเรื่องเงินที่ Krungsri The Coach คลิกที่นี่







ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา



ข้อมูล KF-HJAPAND คลิก

ข้อมูล KFJPINDX-A คลิก

ข้อมูล KFJPSCAP-A คลิก

ข้อมูล KF-JPSCAPD คลิก

ข้อมูล KFJAPANRMF คลิก

ย้อนกลับ

@ccess Mobile Application

ทำรายการกองทุนสะดวกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว