รับมือเงินเฟ้อในปี 2022
(01/04/2022 - 08:15)

ความเสี่ยงเงินเฟ้อเกิดขึ้นอย่างชัดเจน หลังประเทศเศรษฐกิจหลักรายงานเงินเฟ้อในระดับสูงสุดในหลายทศวรรษ ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกสะดุดจากเงินเฟ้อในระดับสูง ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วเริ่มใช้มาตรการการเงินเข้มงวด โดยมีมุมมอง hawkish มากขึ้น อย่างไรก็ตามเรามองว่าสถานการณ์ในไทยจะแตกต่างออกไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังล่าช้าอยู่มาก ตัวชี้วัดเงินเฟ้อจากอุปสงค์ (demand-pull inflation) ของเราสะท้อนว่าเงินเฟ้อของไทยมาจากต้นทุนเป็นหลัก (cost-push inflation) สะท้อนว่านโยบายการเงินของธปท. จะมีประสิทธิภาพน้อยลงในเหตุการณ์นี้      

นโยบายการเงินที่เข้มงวดในประเทศพัฒนาแล้วสมเหตุสมผล … 

จากจุดนี้เราจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อและนโยบายการเงินในรูปแบบที่แตกต่างออกไปในเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเราจะเห็นการใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักรและแคนาดา แต่การใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้นในประเทศเหล่านี้สมเหตุสมผลเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กลับสู่หรือเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด พร้อมอัตราการจ้างงานและการใช้ทรัพยากรที่แข็งแกร่ง       

 

…แต่ไม่ใช่ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ตรงข้ามกับเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว โมเมนตัมเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอ่อนแอลงอย่างมาก โดยในไทยเศรษฐกิจยังคงอยู่ต่ำกว่าแนวโน้มปกติ เช่น เศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.6% yoy ในปีที่ผ่านเทียบกับระดับเฉลี่ย 3 ปีก่อนโควิดที่ 3.5% ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด 8.5% ในอีกด้านหนึ่งไทยมีเงินเฟ้อทั่วไปในระดับสูงสุดที่ 5.28% ในก.พ. ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 2008 คำถามหลักในตอนนี้คือ ธนาคารกลางจะตอบสนองอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง