KRUNGSRI EXCLUSIVE
จริงหรือไม่ที่การกินเครื่องเทศมีประโยชน์กับร่างกายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะการช่วยเรื่องความจำ

HEALTH Q&A ตอบครบทุกข้อสงสัยเรื่องสุขภาพ

 

Q : จริงหรือไม่ที่การกินเครื่องเทศมีประโยชน์กับร่างกายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะการช่วยเรื่องความจำ

A : เมื่อคุณเริ่มมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องภาวะสูญเสียความทรงจำ หรือภาวะสมองเสื่อมก็มีมากขึ้นตามไปด้วย โดยสถิติจาก Mayo Clinic สหรัฐอเมริการะบุว่า ร้อยละ 20 ของผู้ที่มีวัยเกิน 65 ปีขึ้นไปจะมีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) เป็นอาการเบื้องต้นที่อาจจะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ อย่างไรก็ดีมีเคล็ดลับหนึ่งที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้นั่นคือการกินเครื่องเทศ เช่น ขมิ้น

อูมา นายโด นักจิตวิทยาโภชนาการ และผู้อำนวยการของสถาบัน Nutritional and Lifestyle Psychiatry แห่ง Massachusetts General Hospital กล่าวว่า “เครื่องเทศและสมุนไพรถูกใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและการดูแลสุขภาพ ของมนุษย์มาอย่างยาวนาน โดยประโยชน์ที่มีต่อสมองก็ค่อนข้างโดดเด่น เราจึงมีการวิจัยมากมายเพื่อศึกษาถึงการนำเครื่องเทศและสมุนไพรเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในยารักษาโรค”

มีงานวิจัยซึ่งเคยตีพิมพ์ใน The American Journal of Geriatric Psychiatry ที่ศึกษาเรื่องประโยชน์ของสารเคอร์คูมิน ในขมิ้น ระบุว่าสารดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความจำและรักษาการทำงานของสมองให้ไม่เสื่อมเร็วเกินไป เนื่องจากสารต้านการอักเสบที่มีในเคอร์คูมินช่วยป้องกันสมองจากการเสื่อมของระบบประสาท นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มคนอินเดีย ที่บริโภคเคอร์คูมินผ่านอาหารอย่างแกงกะหรี่เป็นประจำ พบว่ามีผลต่อประสิทธิภาพความจำของผู้สูงวัย ทำให้ช่วยเสริมสมมติฐานที่ว่าการบริโภคเคอร์คูมินนั้นมีผลดีต่อระบบประสาทด้านความจำ

แน่นอนว่าการกินอาหารที่มีประโยชน์นั้นส่งผลดีต่อสุขภาพ ข้อดีแรกของเครื่องเทศนั้นคือเป็นเครื่องชูรสชาติที่ทำให้อาหารอร่อยถูกปากมากขึ้น หากจะมีประโยชน์ด้านความจำพ่วงมาด้วยก็น่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย  
 
จริงหรือที่ไม่ควรกินยาพร้อมกับการดื่มกาแฟในยามเช้า
 

Q : จริงหรือที่ไม่ควรกินยาพร้อมกับการดื่มกาแฟในยามเช้า

A : บางคนดื่มกาแฟในยามเช้าเพื่อใช้คาเฟอีนช่วยปลุกให้ตนเองรู้สึกกระปรี่กระเปร่ายิ่งขึ้น ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาก็พบว่าการดื่มกาแฟ 2 แก้วต่อวันนั้นมีประโยชน์จริง ทั้งเรื่องลดอัตราความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งตับ หรือความเสี่ยงจากโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องกินยาในตอนเช้า หรือเลือกกินยาพร้อมกับกาแฟ การจับคู่กับยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ ยกตัวอย่างเช่น การกินกาแฟคู่กับยาต้านโรคซึมเศร้า ที่มีการศึกษาพบว่ากาแฟจะไปลดทอนประสิทธิภาพการดูดซึมตัวยาของร่างกายทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานบางราย การกินยาเบาหวานคู่กับกาแฟ อาจก่อให้เกิดผลเสีย เนื่องจากในบางรายกาแฟส่งผลให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น จึงต้องหมั่นตรวจเช็คน้ำตาลในเลือดเสมอ
 

4 พฤติกรรมทำลายสมองที่ควรหลีกเลี่ยง

สมองคนเรานั้นถือเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายที่ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากกว่าแสนล้านเซลล์ ดังนั้นนอกจากการบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดีแล้ว เราก็ควรบำรุงสมองและดูแลเซลล์กว่าแสนล้านนั้นให้มีสุขภาพดีด้วยเช่นกัน มีพฤติกรรม 4 แบบที่ทำให้สมองขาดสมดุลและทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร หากรู้แล้วควรหลีกเลี่ยงให้ไกล
 

1. ปล่อยให้ร่างกายขาดวิตามินดี

วิตามินดีมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก เพราะวิตามินดีมีหน้าที่หลักในการช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายจึงช่วยป้องกันโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนได้ ในขณะเดียวกันวิตามินดีก็มีส่วนสำคัญกับระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเช่นกัน โทมัส เบิร์น นักวิจัยจาก University of Queensland Brain Institute ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าปริมาณวิตามินดีในร่างกายมีผลต่อการทำงานของสมอง ส่วน ไมเคิล โดมิเนลโญ จาก Karmanos Cancer Institute ก็ระบุว่าการได้รับวิตามินดีที่เพียงพอช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งการได้รับวิตามินดีนั้นสามารถใช้วิธีบริโภคหรือรับแสงแดดในยามเช้าให้เพียงพอ
 

2. อยู่นิ่ง ๆ มากเกินไป

Sedentary Lifestyle หรือที่ในทางการแพทย์ระบุว่าเป็น พฤติกรรมเนือยนิ่ง คือการที่ร่างกายแทบไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ได้แก่ การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือการนอนดูโทรทัศน์ โดยไม่ลุกไปไหนเป็นเวลานานนับชั่วโมง พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากมาย เช่น โรคอ้วน คอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไปจนถึงโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบความจำในร่างกายด้วย ดังนั้นอย่างน้อย ๆ ในแต่ละวันควรหาเวลาออกกำลังกายให้ร่างกายได้ขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวอย่างน้อย 10 นาที เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ
 

3. นอนหลับไม่เพียงพอ

การนอนหลับระหว่างวันนั้นสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ก็จริง แต่การนอนหลับให้สนิทในยามค่ำคืนกลับเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า และควรนอนให้ได้ราว 7 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สมองได้พักและฟื้นฟูการทำงานได้อย่างเต็มที่
 

4. ไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง

การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในยามเช้า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้บั่นทอนสุขภาพไปเรื่อย ๆ ในทางกลับกัน หากเลือกนอนให้เร็วขึ้น ตื่นเช้าขึ้นอีกนิด คุณจะมีเวลาเพียงพอสำหรับการกินอาหารเช้าที่ถูกสุขลักษณะ ได้รับโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน อาจมีเวลายืดเหยียดร่างกาย นั่งสมาธิสั้น ๆ หรือเดินออกกำลังกาย เพื่อเป็นการเริ่มต้นวันใหม่แบบมีคุณภาพและเสริมสร้างการทำงานของสมองให้ดีอยู่เสมอ

อ้างอิง today.com/health, pharmacy.mahidol.ac.th, pobpad.com
© 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)