" ช่วงเวลาในการงีบที่ดีคือช่วงบ่ายซึ่งร่างกายเรียกร้องการพักผ่อนตามธรรมชาติหากคุณรู้สึกว่าตนเองเริ่มคิดช้าสมองไม่ฉับไว"
Q : การนอนกลางวันนั้นดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ และมีเทคนิคการนอนอย่างไรให้ได้ผลดี
“การงีบหลับช่วงระยะเวลาสั้นๆ ช่วยให้คุณรู้สึกกระปรี่กระเปร่า และผ่อนคลายขึ้นได้” มิเชลล์ ดรีรัป จิตแพทย์จาก Cleveland Clinic หนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลก กล่าวไว้ในบทความเรื่องประโยชน์ของการนอนหลับกลางวันอย่างมีประสิทธิภาพ ดร.มิเชลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการนอนอธิบายว่า บางคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับในตอนกลางคืนแพทย์อาจใช้การนอนกลางวันเป็นส่วนหนึ่งของแผนบำบัดด้วย แต่สำหรับคนปกติการงีบหลับในช่วงเวลากลางวันก็ถือว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพเช่นกัน ประโยชน์ทั้ง 3 ข้อจากการนอนหลับกลางวัน ได้แก่
1. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หากคุณรู้สึกง่วงจนทนไม่ไหวจากการนอนดึกหรือนอนหลับไม่พอในคืนก่อนหน้า การงีบหลับเพียงชั่วครู่สามารถทดแทนเวลาการนอนที่หายไปเมื่อคืนได้ มีผลการวิจัยและการศึกษามากมายที่รองรับว่าการงีบหลับช่วยเพิ่มความตื่นตัวมีการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น และเพิ่มความสามารถในด้านการคิดเชิงตรรกะได้มากขึ้นด้วย
2. ช่วยให้ความจำดีขึ้น จากการวิจัยพบว่าคนเราจะสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และใช้เวลาจดจำสิ่งที่เรียนรู้นั้นได้ดีในเวลาอันรวดเร็วหลังจากการงีบหลับช่วงสั้นๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ทดสอบการจดจำข้อมูลโดยพบว่า คนที่งีบหลับหลังได้รับข้อมูลจะจดจำได้มากกว่าคนที่พยายามจำข้อมูลแบบไม่ได้หยุดพักสมอง
3. ช่วยรับมือกับความเครียด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการงีบหลับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยปรับอารมณ์และคลายความเครียดให้คุณได้ มีการศึกษาพบว่าหลังจากที่ได้งีบหลับคนเราจะสามารถจัดการกับอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจหรือหาทางออกให้ความเครียดได้ดีขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้บางงานวิจัยยังพบว่า การงีบหลับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย ทีนี้มาลองดูวิธีที่่จะทำให้การนอนหลับนั้นเป็นการนอนอย่างมีคุณภาพ เรียกว่าเป็นการออกแบบการนอนให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่า
หลายคนอาจยังสงสัยว่าต้องนอนกลางวันนานแค่ไหนจึงจะพอ ดร.มิเชลล์ ตอบว่าตามสถิติแล้วการงีบหลับที่ให้ผลดีสุดคือระยะเวลาเพียง 15-30 นาทีเท่านั้น “เวลาเพียงเท่านี้ถือว่าเพียงพอแล้วในการปลุกความสดชื่นให้กับตัวคุณ และไม่่นานเกินไปจนทำให้คุณเข้าสู่ระยะหลับลึก หรือกระทบกับตารางการนอนของคุณจนทำให้คุณนอนไม่หลับในช่วงกลางคืน”
การนอนกลางวันที่นานเกินไปก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน 2 ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ Sleep Inertia หรืออาการงัวเงียตื่นมาแล้้วยังรู้สึกง่วง หรือไม่กระปรี่ประเปร่าเท่าที่ควร เนื่องจากงีบหลับนานเกินไปอีกปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ Insomnia หรืออาการนอนไม่หลับในยามค่ำคืน ผลที่ตามมาในวันรุ่งขึ้นคือความรู้สึกเหนื่อยในยามตื่นนอนและเมื่อรู้สึกว่าตนเองนอนไม่พอ ก็จะอยากนอนต่อยาวๆ ในช่วงกลางวัน กลายเป็นวัฎจักรการนอนที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
ดังนั้นนอกเหนือจากระยะเวลาการงีบหลับที่ควรจำกัดไว้เพียงสั้นๆ ช่วงเวลาในการงีบที่ดีคือช่วงบ่ายซึ่งร่างกายเรียกร้องการพักผ่อนตามธรรมชาติหากคุณรู้สึกว่าตนเองเริ่มคิดช้า สมองไม่ฉับไว การนอนพักในช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการนอนในช่วงเวลาบ่ายแก่หรือเย็นที่ใกล้กับช่วงเวลาการนอนหลับตามปกติ
มีคำถามว่าเราทุกคนจำเป็นหรือไม่ที่ต้องงีบหลับ ดร.มิเชลล์ กล่าวว่าแต่ละคนล้วนได้รับประโยชน์จากการนอนที่แตกต่างกัน คนบางคนโดยธรรมชาติไม่ได้ต้องการการพักผ่อนในช่วงกลางวันแต่เมื่ออายุมากขึ้นการนอนกลางวันกลับช่วยให้เกิดผลดี “คนเราเมื่ออายุมากขึ้นเรานอนน้อยลงหรือบางคนจะมีอาการตื่นนอนบ่อยในช่วงกลางคืน ดังนั้นสำหรับผู้สูงวัยการงีบหลับในช่วงกลางวันจะช่วยจัดระบบการนอนของแต่ละคนให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากคุุณไม่ได้ชอบนอนกลางวัน ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลใจมันไม่ได้ส่งผลร้ายใดๆ ต่อสุขภาพ ในทางกลับกันหากคุณรู้สึกอยากงีบหลับตลอดเวลาง่วงซึมทั้งวันอาการเหล่านี้หากปล่อยไว้อาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสุขภาพ ทางที่ดีควรไปปรึกษาแพทย์” (อ้างอิง
health.clevelandclinic.org)
Q : ปัจจุบันเราพบเห็นอาหารที่ระบุว่าเป็น Plant Based Meat มากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่าเนื้อสัตว์เหล่านี้คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรต่อสุขภาพบ้าง
Plant Based Meat คือเนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเนื่องจากหลายสาเหตุ และปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากกระแสการนิยมกินอาหารเพื่อสุขภาพ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ได้รับการแปรรูปหรือสารปรุงแต่งอย่าง ไส้กรอก แฮม ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เคยระบุว่าเนื้อแปรรูปเพิ่มความเสี่ยงการก่อให้เกิดมะเร็ง อีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ คือ ความกังวลเรื่องวิกฤตอาหารขาดแคลน ผู้ผลิตส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก ตลอดจนลดการผลิตอาหารที่ทำลายสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือการปศุสัตว์ที่มีทั้งขั้นตอนการเลี้ยงดู การผลิต และการขนส่ง
เนื้อสัตว์สังเคราะห์เหล่านี้ทำขึ้นจากพืชโดยมีส่วนประกอบของ ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ และพืชอื่นๆ ที่ให้โปรตีนสูง จากนั้นนำมาผลิตให้ได้กลิ่น รสชาติ และรูปลักษณ์ที่เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ โดยนำเอาองค์ประกอบของสารต่างๆ และฮีโมโกลบินที่พบได้ทั้งในพืชและเลือดของสัตว์มาประกอบ จนทำให้ผักมีรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์อย่างแยกไม่ออก
ประโยชน์ของเนื้อสัตว์สังเคราะห์เหล่านี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพเนื่องจากมีสารอาหารค่อนข้างครบถ้วน ได้แก่ โปรตีนและไขมันจากน้ำมันสกัดธรรมชาติ ตลอดจนเซลลูโลสโซเดียมและสารอาหารต่างๆ และสิ่งที่ดีกว่าเนื้อสัตว์จริงคือ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ ข้อสำคัญ Plant based meat มีความปลอดภัยสูงผักที่นำมาใช้ผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นพืชผักออแกนิกส์จึงปราศจากสิ่งปนเปื้อนตลอดจนส่วนผสมที่นำมาประกอบยังเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ หากเทียบกับขั้นตอนการผลิตเนื้อสัตว์ที่่มักมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนของสารพิษ หรือโรคภัยต่างๆ ที่ปะปนมากับเนื้อสัตว์ที่ผลิตอย่างไม่ได้มาตรฐาน
ข้อดีอีกประการหนึ่งของเนื้อสัตว์สังเคราะห์คือการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลการศึกษาพบว่าขั้นตอนการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นได้มากกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าเป็นอาหารรักษ์โลก และยังไม่สร้างขยะในกระบวนการผลิตมากเท่ากับการผลิตเนื้อสัตว์
Q : พืชกระท่อม แท้จริงแล้วมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร และสามารถนำมาใช้อย่างไรได้บ้างจึงจะปลอดภัยและถูกกฎหมาย
พืชกระท่อมนั้นถูกใช้ในทางยามาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้สำหรับตำรับยาแก้ท้องเสียท้องร่วงในสูตรยาของแพทย์พื้นบ้านหรือแพทย์แผนโบราณเช่น ตำรับยาประสะกระท่อม (ตำรับยาซึ่งมีกระท่อมเป็นตัวยาหลัก) นอกจากนี้ในตำรับยาแผนโบราณที่เป็นคัมภีร์ยาหลวง ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้รวบรวมไว้ยังปรากฎว่ามีตำราที่ใช้กระท่อมเป็นส่วนประกอบมากถึง 18 ตำรับ สำหรับสรรพคุณอื่นๆ ของกระท่อมยังช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอ และยังช่วยทำให้นอนหลับ วิธีใช้จะใบสดหรือใบแห้งมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา บางส่วนยังเชื่อว่ากระท่อมมีสรรพคุณในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามเมื่อการรักษาแผนปัจจุบันมีความแพร่หลายมากขึ้น การรักษาโรคภัยต่างๆ ด้วยกระท่อมก็ลดลงตามลำดับ ประกอบกับใบกระท่อมนั้นแม้จะมีผลออกฤทธิ์ทั้งทางยา แต่ก็ทำให้เสพติดได้และยังมีผลเสียต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
กระท่อมถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ก่อนจะได้รับการปลดล็อกใน พ.ศ. 2564 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 เป็นการกำหนดยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป มีผลทำให้พืชกระท่อมไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย เว้นแต่การนำไปผสมกับยาเสพติดอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลของสารเสพติด เช่น สี่คูณร้อย เป็นส่วนผสมของใบกระท่อมและยาแก้ไอที่มีโคเดอีนหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งให้ผลคล้ายกับการดื่มแอลกอฮอล์
ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม เพื่อควบคุมพืชกระท่อมเป็นการเฉพาะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ทั้งนี้การนำพืชกระท่อมมาแปรรูปหรือนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหรือเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผู้ผลิตจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย
การวิจัยในปัจจุบันค้นพบว่า ใบกระท่อมมีผลต่อเซลล์ประสาทบางชนิดในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความเจ็บปวด จึงถูกนำมาใช้บรรเทาความเจ็บปวดในร่างกาย เช่น อาการปวดหลัง ระบบประสาท กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น แม้กระทั่งการปวดฟัน รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากภาวะเรื้อรัง เช่น โรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อมมะเร็ง เบาหวานโรคข้ออักเสบ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาอาการไอ การหลั่งกรด ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก ช่วยให้นอนหลับและมีระงับประสาท
การใช้กระท่อมสามารถใช้ใบสดมาต้มน้ำหรือใช้ใบแห้งบดชงเป็นชา แต่ไม่ควรใช้ในปริมาณมากกว่า 15 กรัม จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ผู้ที่ไม่ควรใช้ใบกระท่อม ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดสุรา ผู้มีความผิดปกติทางจิต ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ