KRUNGSRI EXCLUSIVE
 

GOAL FOR THE GREEN WORLD

 

แก้ไขวิกฤตโลกร้อนและดูแลสิ่งแวดล้อม คือสิ่งเดียวที่ทั้งโลกมีเป้าหมายร่วมกัน

   
goal for the green world
 
นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ จีน ขณะที่หากแยกตามประเภทกิจกรรมจะพบว่าในส่วนของพลังงาน เป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด โดยมีสัดส่วนกว่า 70% ดังนั้นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศจึงเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากข้อมูลของ New York Times พบว่าปัญหา สิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ต้องสูญเงินกว่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ไปกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2562

ในปัจจุบันเราเห็นว่ารัฐบาลหลายประเทศมีแนวทางในการดำเนินนโยบายที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงมากขึ้นโดยสหรัฐฯมีเป้าหมายจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ขณะที่จีน ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2603 หนึ่งในนโยบายสำคัญเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือการปรับมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ขณะเดียวกันประธานาธิบดีไบเดน ยังได้แสดงท่าทีและจุดยืนต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับวาระด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งยังถือเป็นวาระแห่งชาติโดยตั้งเป้าหมายหลัก 2 ข้อได้แก่
  1. Net Zero Emission: ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2593
  2. 100% Clean Electricity: ตั้งเป้าให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใช้พลังงานสะอาด 100% ในปี 2578 โดยมีแผนที่จะจัดทำนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากมาย เช่น ออกนโยบายภาษีที่สร้างแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอร์รี่ วางแผนจะสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น
ในมุมของ โจ ไบเดน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม คือ “เรื่องเดียวกัน” ดังนั้นเป้าหมายที่ว่านี้จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถัดจากนี้เลยทีเดียว โดยนายไบเดนมองว่าการปรับนโยบายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯพัฒนาไปสู่ “อุตสาหกรรมสมัยใหม่” ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและการจ้างงานเพิ่มเติมในธุรกิจใหม่ โดยนายไบเดนคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนและพัฒนาตามแนวทางของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) กลายเป็นประเด็นที่ตระหนักมากขึ้นของผู้คนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโลกหลังโควิด -19 นักลงทุนต่างมองหาบริษัทที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยตลาดเริ่มซึมซับ Climate Risk ไปในมูลค่าของสินทรัพย์มากขึ้น และผลที่ตามมาคือการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนของนักลงทุน โดยนับตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง พฤศจิกายน 2563 ทั้งนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนและ ETFs ทั่วโลกมีการลงทุนในสินทรัพย์ยั่งยืนกว่า 2.88 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 96% ที่เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในปี 2562 ขณะที่สถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึง BlackRock ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจากความเสี่ยง ของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Risk) โดย Climate Change ถูกนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการบริหารความเสี่ยง และให้น้ำหนักในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ BlackRock ได้มีการนำปัจจัยดังกล่าวมาวิเคราะห์ในกระบวนการสร้างพอร์ตการลงทุนและในการบริการความเสี่ยงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาเงินเฟ้อ BlackRock เชื่อว่าการตระหนักถึง Climate Change จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แม้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) จะต้องใช้เวลานานกว่าทศวรรษ เนื่องจากนวัตกรรมของเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถช่วยในการลดต้นทุนได้ แต่ภาครัฐของแต่ละประเทศจะเข้ามามีบทบาทในการเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Low Carbon Economy ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนรวมถึงระดับนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส
 
ข้อมูล ทีมที่ปรึกษาด้านการลงทุน กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ
 
© 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)