dStatement บริการขอ Bank Statement ในรูปแบบดิจิตอล

 

dStatement หรือ digital bank statement

คือบริการทางเลือกใหม่ในการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน แทนการส่งข้อมูลในรูปแบบกระดาษด้วยตัวลูกค้าในรูปแบบเดิม
 

ประโยชน์ และข้อดีของการใช้บริการ dStatement

dStatement ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูล bank statement เป็นหลักฐานประกอบในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การสมัครขอสินเชื่อโดยที่สถาบันการเงินสามารถส่งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งได้โดยตรงตามคำสั่งและคำยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล
 

สะดวกเพียงยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลไปยังธนาคารปลายทาง

รวดเร็วกว่าการขอ Bank Statement แบบเดิม

ปลอดภัยจากการปลอมแปลงเอกสาร หรือเอกสารหล่นหายโดยใช้ แพลตฟอร์ม NDID ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้สำหรับการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนระหว่างธนาคารตามมาตรฐานสากล

ประหยัดเวลาในการรวบรวมเอกสารประกอบการทำธุรกรรม

 

ใช้บริการ dStatement ได้อย่างไร?

ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูล bank statement ต้องยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลไปยังธนาคารปลายทาง การยินยอมเปิดเผยข้อมูลอยู่ในขั้นตอนของการสมัครใช้บริการ
 

คุณสมบัติของผู้ใช้บริการ

บุคคลธรรมดา
สามารถใช้บริการได้ตั้งแต่ 24 ม.ค. 65 เป็นต้นไป
  • มีบัญชีเงินฝากประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากออมทรัพย์ (ยกเว้นบัญชีร่วม, เพื่อ, โดย) ข้อมูลการเดินบัญชีย้อนหลังไม่เกิน 6 เดือน
  • ผูกบัญชีเงินฝากที่ต้องการใช้บริการ dStatement กับ KMA – Krungsri Mobile App
นิติบุคคล
จะสามารถเปิดให้บริการได้ในอนาคต
 

ช่องทางการใช้บริการ dStatement

ในช่วงระยะแรก ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการ dStatement ได้ด้วยการเรียกขอ dStatement ผ่าน Mobile Banking App สำหรับธุรกรรมการขอสินเชื่อ โดยจะมีการขยายช่องทางการให้บริการ และประเภทธุรกรรมที่ให้บริการต่อไปในอนาคต
 
ทำรายการขอ bank statement ผ่านบริการ dStatement ได้ตั้งแต่ 04:30-23:50 น.
สามารถขอ bank statement ผ่านบริการ dStatement ได้สูงสุดไม่เกิน 5 บัญชีต่อครั้ง
จำนวนรายการเดินบัญชีไฟล์ size ได้ไม่เกิน 10 MB หรือประมาณ 20,000 รายการ (รวมทุกบัญชีที่ขอ) ในช่วง 6 เดือนย้อนหลัง
ดาวน์โหลดและลงทะเบียน KMA ด้วยระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
 

ขั้นตอนการสมัครใช้บริการ

 

ค่าธรรมเนียมการใช้บริการ

พิเศษ ยกเว้นค่าธรรมเนียม 75 บาท ต่อครั้ง ต่อ 1 บัญชี จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
 
1. dStatement ดีอย่างไร
ตอบ
ถูกกว่า เพราะค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการขอ Bank Statement แบบกระดาษ
สะดวกกว่า เพราะสามารถใช้บริการผ่าน Mobile Banking โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสาขา และลูกค้าสามารถเรียกขอ dStatement จากหลายธนาคารได้พร้อมกันเพียงไม่กี่ขั้นตอน
รวดเร็วกว่า เพราะไม่เสียเวลาจัดส่งเอกสาร ข้อมูลเป็นแบบดิจิทัลที่มีมาตรฐานเดียวกัน ธนาคารที่ได้รับข้อมูลสามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้เร็ว ไม่ต้องมีการป้อนข้อมูลเข้าระบบอีก
ประหยัดเวลา เพราะข้อมูล dStatement จะส่งจากธนาคารขาส่งไปยังธนาคารขารับโดยตรงลดขั้นตอนการดำเนินการของลูกค้าลง โดยเป็นผู้เรียกขอและสั่งให้ส่ง
ปลอดภัย เพราะสามารถป้องกันการปลอมแปลง และไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารสูญหาย
2. dStatement แตกต่างจาก e-Statement ที่ ธนาคารให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบันอย่างไร
ตอบ
e-Statement หรือ electronic bank statement คือเอกสารรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารในแต่ละเดือนในรูปแบบไฟล์ PDF ที่ถูกเข้ารหัส ซึ่งลูกค้าสามารถขอได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ของธนาคารเพื่อให้ระบบส่งข้อมูลไปที่ email ของตน หากจะนำไปใช้งานลูกค้าต้องดาวน์โหลด e-Statement และพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษเพื่อนำไปยื่นสมัครขอสินเชื่อต่างๆ ต่อไป

ส่วน dStatement คือข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารที่เหมาะสำหรับนำไปประมวลผลต่อมากกว่าการแสดงผลให้ลูกค้าดู

e-Statement และ dStatement คล้ายกันตรงที่มีข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากของผู้ใช้งาน แต่วิธีการรับส่งข้อมูลดังกล่าวแก่บุคคลที่ 3 จะต่างกัน กล่าวคือ บริการ dStatement จะทำการส่งข้อมูลจากสถาบันการเงินหนึ่งไปยังสถาบันการเงินปลายทางโดยตรง หลังจากที่ได้รับคำสั่งหรือคำยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล และการยืนยันตัวตนจากผู้ใช้งาน ในขณะที่ บริการ e-Statement จะทำการส่งข้อมูลไปยัง email ของผู้ใช้งาน เพื่อนำไปยื่นสมัครขอสินเชื่อต่างๆ ด้วยตนเองกับสถาบันการเงินต่อไป นอกจากนี้ข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากที่อยู่ใน dStatement ยังสามารถ นำไปประมวลผลแบบอัตโนมัติได้ง่ายกว่า ส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อสามารถทำได้เร็วยิ่งขึ้น
3. dStatement จะมาทดแทน bank statement ในรูปแบบกระดาษเลยหรือไม่
ตอบ
ไม่ใช่ เนื่องจาก dStatement เป็นช่องทางเพิ่มเติมของแต่ละธนาคารในการให้บริการข้อมูล bank statement แก่ลูกค้าซึ่งเน้นการนำไปใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ดังนั้นธนาคารจะยังมีบริการ dStatement และบริการ bank statement ทั้งในรูปแบบกระดาษและ e-statement ควบคู่กันต่อไป
4. เมื่อมีบริการ dStatement แล้วจะยังสามารถ ขอ e-Statement แบบเดิมหรือ bank statement แบบกระดาษแบบเดิมได้หรือไม่
ตอบ
ยังคงสามารถใช้บริการได้เช่นเดิม
5. จะเริ่มใช้บริการ dStatement ได้เมื่อไหร่
ตอบ
ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 65 เป็นต้นไป
ธนาคารที่สามารถส่งข้อมูล bank statement ผ่านบริการ dStatement ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 65 ให้แก่ธนาคารอื่นได้ จํานวน 6 ธนาคาร ได้แก่
  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  4. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
  6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารผู้ให้บริการสินเชื่อที่สามารถเรียกขอข้อมูล bank statement ผ่านบริการ dStatement จากธนาคารอื่นได่ ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 65 จำนวน 3 ธนาคาร ได้แก่
  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
6. มีธนาคารที่เริ่มให้บริการกี่ราย ธนาคารใดบ้าง ครอบคลุมบัญชีเงินฝากเป็นสัดส่วนเท่าใด และจะมีธนาคารเพิ่มเติมอีกในอนาคตหรือไม่
ตอบ
ธนาคารที่เริ่มให้บริการในระยะแรกมี 11 แห่ง ซึ่งครอบคลุมกว่าร้อยละ 98 ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประชาชน ได้แก่
  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  4. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
  6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  7. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
  8. ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  9. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  10. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  11. ธนาคารออมสิน
โดยจะทยอยเปิดให้บริการ นอกจากนี้มีแผนที่จะขยายเพิ่มเติมไปสู่ธนาคารอื่นๆ ต่อไป
7. มีค่าธรรมเนียมหรือไม่
ตอบ
ค่าธรรมเนียมการส่งข้อมูลกำหนดโดยธนาคารที่ส่ง dStatement ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 75 บาท ต่อครั้ง ต่อ 1 บัญชี ผู้ใช้บริการสามารถศึกษาค่าธรรมเนียมได้จาก Website ของแต่ละธนาคารหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากธนาคารที่เลือกใช้บริการ

ทั้งนี้ธนาคารที่รับข้อมูลจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม dStatement กับลูกค้า
8. ใครสามารถใช้บริการ dStatement ได้บ้าง
ตอบ
บุคคลธรรมดาที่
  • มีบัญชีเงินฝากประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีกระแสรายวันอยู่กับธนาคารขาส่ง ทั้งนี้ สำหรับบัญชีประเภทอื่นจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่
  • มีMobile Banking App ของธนาคารขาส่งที่มีบัญชีเงินฝากอยู่
9. ทำไมต้องมี Mobile Banking Application ของธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ถึงจะขอ dStatement ได้
ตอบ
เพื่อใช้ยืนยันตัวตนด้วย Mobile Banking Application เนื่องจากในการดำเนินการส่ง dStatement ให้ตามคำขอของลูกค้าในแต่ละครั้ง ธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้ที่ทำรายการเป็นเจ้าของบัญชีจริง ซึ่งวิธีการที่สะดวกและรวดเร็วในการยืนยันตัวตนลูกค้าคือการให้ลูกค้า ยืนยันการทำรายการ dStatement ผ่าน Mobile Banking Application
10. นิติบุคคลสามารถใช้บริการ dStatement ได้หรือไม่
ตอบ
ยังไม่สามารถใช้ได้ สำหรับลูกค้านิติบุคคล กลุ่มธนาคารผู้ให้บริการ dStatement อยู่ระหว่างพัฒนาระบบให้รองรับในระยะต่อไป
11. อยากใช้บริการ dStatement ต้องทำอย่างไร สามารถใช้บริการผ่านช่องทางใดได้บ้าง
ตอบ
ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการ dStatement ได้ด้วยการเรียกขอ bank statement ผ่านบริการ dStatement ได้ผ่านช่องทาง Mobile Banking Application หรือผ่านช่องทางสาขา หรือจุดให้บริการนอกสถานที่ของธนาคารจุดให้บริการเพื่อใช้สำหรับธุรกรรมการขอสินเชื่อ โดยในระยะต่อไป จะมีการขยายช่องทางและรูปแบบการให้บริการมากขึ้นและประเภทธุรกรรม ที่ให้บริการต่อไปในอนาคต ทั้งนี้จะขึ้นกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการของแต่ละธนาคาร
12. สามารถใช้บริการเรียกขอ dStatement ผ่านสาขาหรือตู้ ATM ได้หรือไม่
ตอบ
สามารถใช้บริการเรียกขอ dStatement ผ่านช่องทางสาขาได้ในบางธนาคาร

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้บริการของธนาคารขารับที่ลูกค้ายื่นขอสินเชื่อ และยังไม่มีการให้บริการเรียกขอ dStatement ผ่านตู้ ATM
13. หลังผู้ใช้บริการอนุมัติการส่งข้อมูลผ่าน Mobile Banking Application ของธนาคารที่มีข้อมูล Bank Statement (ธนาคารขาส่ง) แล้ว จะทราบได้อย่างไรว่า ธนาคารขารับได้รับข้อมูล
ตอบ
ลูกค้าสามารถตรวจสอบผลการส่ง dStatement ผ่านช่องทางที่ธนาคารขาส่งหรือธนาคารขารับกำหนด เช่น สามารถตรวจสอบจากหน้าจอแสดงผลการทำรายการ หรือ Notification ใน Mobile Banking Application หรือ SMS หรือ Email ของธนาคารขาส่งและธนาคารขารับ ทั้งนี้ขึ้นกับช่องทางของแต่ละธนาคาร
14. ขอข้อมูล bank statement ย้อนหลังได้นานเท่าไหร่ (กี่วัน กี่เดือน)
ตอบ
ผู้ใช้บริการสามารถขอข้อมูลย้อนหลังได้นาน 180 วัน ทั้งนี้อาจมีบางธนาคารที่สามารถขอข้อมูลย้อนหลังได้นานกว่า สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากธนาคารที่เลือกใช้บริการ
15. หลังให้ความยินยอมส่งข้อมูล Bank Statement ในขั้นตอนสมัครขอสินเชื่อแล้วจำเป็นต้องดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติมหรือไม่
ตอบ
ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องอนุมัติยืนยันการส่งข้อมูล dStatement ผ่าน Mobile Banking Application ของธนาคารที่ท่านมีบัญชีอยู่ และชำระค่าธรรมเนียมการใช้บริการ dStatement ธนาคารจึงจะสามารถส่งข้อมูล dStatement ไปให้ธนาคารปลายทางที่ร้องขอข้อมูลได้
16. สามารถขอ bank statement ผ่านบริการ dStatement มากกว่า 1 บัญชีต่อการทำรายการ 1 ครั้งได้หรือไม่
ตอบ
สามารถทำได้ โดยลูกค้าสามารถขอได้สูงสุดพร้อมกันได้ถึง 3 ธนาคาร และขอได้สูงสุดถึง 5 บัญชีต่อธนาคาร ต่อการสมัครขอสินเชื่อ 1 ครั้ง
17. หากต้องการขอ bank statement หรือสำเนามาเป็น File หรือเป็นกระดาษมาเก็บไว้ที่ตนเองเพื่อดูเองหรือเพื่อส่งต่อให้ผู้อื่นในอนาคตสามารถทำได้หรือไม่
ตอบ
ไม่สามารถขอรับ File หรือสำเนา dStatement ได้เนื่องจากเป็นการส่งข้อมูลระหว่างธนาคารโดยตรง ในกรณีที่ต้องการรับข้อมูลที่เป็น File หรือกระดาษ ลูกค้ายังคงสามารถขอได้ผ่านบริการ e-Statement หรือการขอ Bank Statement ในรูปแบบกระดาษผ่านบริการแบบเดิมได้
18. มีการจำกัดจำนวนครั้งในการใช้บริการ dStatement หรือไม่
ตอบ
ไม่มีการจำกัดจำนวนครั้งในการใช้บริการ
19. ทุกครั้งมีการส่ง bank statement ผ่านบริการ dStatement จะมีการแจ้งเตือนให้ทราบหรือไม่
ตอบ
ทุกครั้งที่มีการร้องขอ dStatement มายังบัญชีของลูกค้า จะมี Notification แจ้งเตือนมายังลูกค้าที่เป็นเจ้าของบัญชีซึ่งต้องดำเนินการยืนยันอนุมัติและชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการส่ง dStatement ด้วยตนเองก่อนจึงจะสามารถส่งข้อมูลออกไปได้
20. หากช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวเลย จะสามารถขอ dStatement ได้หรือไม่
ตอบ
ทุกครั้งที่มีการร้องขอ dStatement มายังบัญชีของลูกค้า จะมี Notification แจ้งเตือนมายังลูกค้าที่เป็นเจ้าของบัญชีซึ่งต้องดำเนินการยืนยันอนุมัติและชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการส่ง dStatement ด้วยตนเองก่อนจึงจะสามารถส่งข้อมูลออกไปได้
21. dStatement สามารถนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
ตอบ
ในระยะเริ่มต้นลูกค้าจะสามารถใช้บริการ dStatement สำหรับธุรกรรมการขอสินเชื่อผ่าน Mobile Banking Application และผ่านสาขาของธนาคาร

อย่างไรก็ดี ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณานำ dStatement ไปใช้สำหรับธุรกรรมอื่นๆ ในอนาคตต่อไป
22. สามารถใช้ได้กับบัญชีเงินฝากทุกประเภทหรือไม่
ตอบ
ยังรองรับไม่ครบทุกประเภท โดยในระยะเริ่มต้นบริการ dStatement จะรองรับบัญชีเงินฝากประเภท บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีกระแสรายวัน ยกเว้นบัญชีร่วมและบัญชีผู้เยาว์ ทั้งนี้สำหรับบัญชีประเภทอื่นนอกเหนือจากนี้จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่
23. สามารถขอ dStatement จากบัญชีประเภทอื่น ที่ไม่ใช่เงินฝากได้หรือไม่ เช่น สินเชื่อ บัตรเครดิต
ตอบ
ยังไม่รองรับในปัจจุบัน
24. ข้อมูล bank statement ที่ได้รับจากบริการ dStatement มีความน่าเชื่อถือเพียงใด
ตอบ
ข้อมูล dStatement มีความถูกต้องและเชื่อถือได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มาจากธนาคารเจ้าของบัญชีโดยตรง ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการปลอมแปลงเอกสาร นอกจากนี้ธนาคารยังมีกลไกการเข้ารหัสในการรับส่งข้อมูลระหว่างธนาคารอย่างรัดกุมและรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
25. ถ้าส่งคำสั่งให้ส่งข้อมูล bank statement และชำระค่าธรรมเนียมแล้ว แต่ไม่ได้รับข้อมูล (เกิด error) ต้องทำอย่างไร/ติดด่อใคร/จะได้เงินคืนหรือไม่
ตอบ
ให้ลูกค้าติดต่อไปยังธนาคารที่ท่านสมัครขอสินเชื่อหรือธนาคารที่เป็นผู้ส่งข้อมูล dStatement เพื่อให้ธนาคารดังกล่าวประสานติดตามหาสาเหตุของปัญหา ทั้งนี้ หากพบว่าธนาคารที่ท่านมีบัญชีเงินฝากอยู่ไม่สามารถดำเนินการนำส่ง dStatement ให้ได้สำเร็จลูกค้าจะได้รับการคืนเงินค่าธรรมเนียมการขอ dStatement เต็มจำนวน
26. บริการ dStatement ปลอดภัยหรือไม่ ธนาคารดูแลข้อมูลลูกค้าอย่างไร
ตอบ
บริการ dStatement เป็นบริการที่พัฒนาต่อยอดจากระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID) ที่ใช้สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนระหว่างธนาคาร เพื่อสมัครใช้บริการทางการเงินต่างๆ ซึ่งธนาคารมีให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก และการขอสินเชื่อ

ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัลนี้ มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล และอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท National Digital ID ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ จึงสามารถมั่นใจได้ว่าบริการ dStatement นี้มีมาตรฐานความปลอดภัยไม่น้อยกว่าการเปิดบัญชีเงินฝากหรือขอสินเชื่อในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การรับส่งข้อมูลผ่านบริการ dStatement จะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอม (consent) จากผู้ใช้บริการที่ยืนยันตัวตนแล้ว โดยข้อมูลจะถูกนำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้เท่านั้น จึงสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลของผู้ใช้บริการจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
27. ธนาคารที่ได้รับข้อมูล dStatement จะนำไปส่งต่อให้บุคคลอื่น หรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้หรือไม่
ตอบ
ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากธนาคารต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดให้แต่ละธนาคารต้องใช้ข้อมูลของลูกค้าเท่าที่อยู่ในวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูลที่ลูกค้าได้ให้ความยินยอมไว้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงระหว่างธนาคารที่จะไม่ขอความยินยอมจากลูกค้าในลักษณะที่จะเปิดโอกาสให้ธนาคารนำข้อมูลของลูกค้าไปส่งต่อให้ผู้อื่น
28. ธนาคารที่ได้รับข้อมูล dStatement จะจัดเก็บข้อมูลเอาไว้นานเพียงใด
ตอบ
เป็นไปตามนโยบายจัดเก็บเอกสารพิจารณาสินเชื่อของแต่ละธนาคาร
29. กรณีส่ง bank statement ผ่านบริการ dStatement โดยสำเร็จไปโดยไม่ตั้งใจ และชำระเงินไปแล้ว จะสามารถขอเงินคืนได้หรือไม่
ตอบ
ไม่สามารถขอเงินคืนได้
30. Regulatory Sandbox คืออะไร
ตอบ
Regulatory Sandbox คือ แนวทางการทดสอบและพัฒนา นวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน โดยเปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินทดสอบการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ในวงจำกัด เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน ขณะที่มีแนวทางในการดูแลความเสี่ยงและคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าระบบมีความน่าเชื่อถือและให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถติดตามดูแลความเสี่ยงของบริการ dStatement ได้อย่างใกล้ชิด บริการ dStatement จึงเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การทดสอบใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย
 

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

  • เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงศรี คลิก
  • KMA – Krungsri Mobile App
 
ดาวน์โหลดและลงทะเบียน KMA ด้วยระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
© 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)