KRUNGSRI EXCLUSIVE
 

2ND QUARTER FORECAST

 

มุมมองและกลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 2

   
2nd quarter forecast
 
ตลาดหุ้นปรับฐานในช่วงปลายไตรมาส 1 จากความคาดหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เร่งตัวเหนือ 1.6% แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ที่ดูดีขึ้น ประกอบกับการอนุมัติและแจกจ่ายวัคซีนที่คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติ จากความคาดหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนเริ่มมีการสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนจากกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่ม Big Tech ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำไปยังกลุ่ม Cyclical หรือกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับวัฏจักรของเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มการเงิน และพลังงาน รวมถึงกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการคลายล็อคดาวน์และปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดในช่วงก่อนหน้านี้

สำหรับการลงทุนในไตรมาส 2 ยังคงต้องติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) และคาดการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ ยังมีโอกาสเร่งตัวในระยะข้างหน้า จาก 1) เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 2) เงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแรงจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว

นอกจากนี้สิ่งที่ตลาดจะจับตาดูมากขึ้นในไตรมาส 2 คือการส่งสัญญาณของ Fed ต่อทิศทางของนโยบายการเงิน ซึ่งขณะนี้ตลาดมีมุมมองว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยหรือกลับมายุติมาตรการ QE เร็วกว่าที่คาด แต่จากการประชุม FOMC (Federal Reserve Open Markets Committee) ครั้งล่าสุด และจุดยืนของ นายเจอโรม พาวเวล
ที่ผ่านมายังคงย้ำว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมองว่าการเร่งตัวขึ้นเงินเฟ้อจะเป็นเพียงชั่วคราว โดยยังจะคงดอกเบี้ยไปอย่างน้อยถึงปี 2023 ซึ่งเราคาดว่าตลาดจะลดความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ เพราะตราบเท่าที่ยังมีการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็จะเป็นสิ่งที่หนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจและภาวะการลงทุน

ในภาพยาวเราเชื่อว่าตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนสามารถที่จะเติบโตได้สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรประกอบกับการเร่งตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในครั้งนี้เป็นผลจากความคาดหวังของการฟื้นตัวของอุปสงค์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามักเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นเสมอ โดยการปรับฐานของตลาดในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ Valuation ของตลาดมีความน่าสนใจและสมเหตุสมผลมากขึ้น ดังนั้นเราจึงมองว่าการปรับฐานดังกล่าวยังเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสม

สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุน แม้ภาพยาวเรายังมองว่าตลาดยังเป็นขาขึ้น แต่ระหว่างทางจะมีความผันผวนได้จากผลตอบแทนพันธบัตรที่เร่งตัว ดังนั้นเราแนะนำให้ติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิดและกระจายการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดย BlackRock ยังแนะนำกลยุทธ์การลงทุนแบบ Bar-belled กล่าวคือกระจายการลงทุนใน
2 กลุ่ม ได้แก่
  1. กลุ่มคุณภาพ (Quality) ซึ่งได้แก่ Technology และ Healthcare ซึ่งได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทรนด์การลงทุนของโลกและกำลังเติบโตอย่างมั่นคง
    โดยการปรับตัวลดลงมาในช่วงที่ผ่านมาเรามองว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน
  2. กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (Cyclical) ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) นอกจากนี้เรายังแนะนำกระจายการลงทุนที่เกาะกระแส Mega Trend และมีแนวโน้มเติบโตสูง เช่น ESG และ Climate Change ที่นับวันได้เข้ามามีบทบาทในโลกขอการลงทุนมากขึ้นและหลายประเทศได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนอย่างจริงจัง รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะได้รับโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกลุ่ม E-Commerce ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมาและแม้จะผ่านการแพร่ระบาดของโควิด -19 ไปแล้วก็ตาม แต่ผู้บริโภคก็ยังมีพฤติกรรมกาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สำหรับกลุ่มที่ยังไม่ได้มีการฟื้นตัวตามตลาดอื่น ๆ (Laggard) ในปีที่ผ่านมาอย่าง REITs ก็กลับมามีความน่าสนใจมากขึ้นและจะได้ประโยชน์ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้มีความน่าสนใจลดลงโดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาวซึ่งเรามีมุมมอง Underweight จากความเสี่ยงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อาจเร่งตัวในระยะข้างหน้า

ข้อมูล ทีมที่ปรึกษาด้านการลงทุน กรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ
 
© 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)