เราควรจ่ายเบี้ยประกันปีละเท่าไร? และวางแผนเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง
เพื่อคุ้มครองคุณและครอบครัว
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

เราควรจ่ายเบี้ยประกันปีละเท่าไร? และวางแผนเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง

icon-access-time Posted On 05 มิถุนายน 2561
by Krungsri The COACH
ประกันชีวิตคือหนึ่งสินทรัพย์ที่หลายคนมองว่าควรมีถือไว้ติดตัว และกำลังคิดกันว่าตัวเองควรจะซื้อเท่าไรดี และซื้อประเภทไหนดี ทั้งนี้เพราะแบบประกันมีหลายประเภท ระยะเวลาในการชำระเงิน และทุนประกันก็ล้วนมีความแตกต่างให้ต้องตัดสินใจ
 
เรามาดูกันว่าหลักในการเลือกทำประกันที่ดีที่จะทำให้ส่งเบี้ยได้สบายๆ ไม่อึดอัดจนกลายจนเป็นภาระของตัวเอง รวมถึงได้ตัวเลขที่ดีที่คุ้มค่าต่อการซื้อ
 
ก่อนอื่นลองมาทำความเข้าใจกันว่าแบบประกันแต่ละแบบ ว่าอันไหนมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเราควรซื้อเท่าไรดี
 

ประเภทของประกันชีวิต และคำแนะนำในการลงทุน

1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)

 
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เป็นประเภทที่เน้นการคุ้มครองระยะยาวที่จะได้รับเงินเมื่อผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต และเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดสัญญา จึงเหมาะจะทำไว้เป็นเงินก้อนให้กับลูกหลาน จุดประสงค์คือเพื่อเป็นหลักประกันว่าครอบครัวจะไม่ลำบากเมื่อเราจากไป โดยมีการจ่ายเบี้ยประกันในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 5, 10, 15, 20 ปี แต่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ หรือจนกระทั่งอายุที่กำหนดไว้ (เช่น 90 ปี) ขึ้นอยู่กับแบบประกันของแต่ละบริษัท

ข้อดี
เป็นแบบประกันที่ค่าเบี้ยประกันต่ำเมื่อเทียบกับทุนประกัน ให้ความคุ้มครองนาน เหมาะจะทำไว้เป็นหลักประกันให้ลูกหลาน
 
ข้อเสีย
ผลตอบแทนไม่ได้สูงจนเหมาะจะทำไว้ลงทุน ส่วนมากแล้วมักไม่มีเงินคืนให้ และไม่เหมาะจะนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสดยามฉุกเฉิน เพราะจะเสียความคุ้มครอง
 
ควรซื้อเท่าไรดี
 
เราควรจ่ายเบี้ยประกันปีละเท่าไร? และวางแผนเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าเป็นแบบประกันที่เหมาะจะทำไว้เป็นมรดกให้คนข้างหลัง เลยมีหลักในการคำนวณทุนประกันง่ายๆ มาให้ลองดูกัน

1. ดูภาระทางการเงินของตัวเอง
ตรวจสอบดูว่าเรามีภาระทางการเงิน(หนี้สิน) ที่เมื่อจากไปคนข้างหลังจะต้องชำระแทนมากแค่ไหน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ แล้วดูว่าปัจจุบันมีสินทรัพย์อยู่จำนวนเท่าไร เช่น เงินออม หุ้น ทองคำ กองทุน ทุนประกันจากกรมธรรม์อื่นๆ ที่เคยทำไว้

2. คำนวณความต้องการพื้นฐาน
ตั้งเป้าหมายว่าอยากมีสินทรัพย์ที่ทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลานจำนวนเท่าไรดี
 
วิธีการคำนวณทุนประกัน
สินทรัพย์ที่มีปัจจุบัน - (หนี้สินทั้งหมด+เงินที่อยากเตรียมไว้ให้คนข้างหลัง)
= ทุนประกันที่ควรทำ (จำนวนเงินที่อยากทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลาน)
 

2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)

 
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นประกันชีวิตแบบที่ให้ความคุ้มครองและมีการออมเงินเข้ามาเกี่ยวด้วย มีให้เลือกทั้งแบบระยะสั้น กลาง และยาว (เริ่มตั้งแต่ 3-5 ปี หรือจนถึง 25-30 ปี) เป็นแบบประกันที่จะได้รับเงินเมื่อครบกำหนดเวลา หรือจ่ายเงินเอาประกันให้ผู้รับผลประโยชน์หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์กำหนด
 
ข้อดี
ฝึกวินัยในการออมเงินเพราะต้องจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นเครื่องมือออมไว้ใช้ในยามชรา หรือเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรหลาน
 
ข้อเสีย
การออมประเภทนี้ (ค่าเบี้ยจะค่อนข้างสูง) เมื่อเทียบกับประกันชีวิตประเภทอื่นๆ หากต้องจ่ายเบี้ยเท่ากัน
 
ควรซื้อเท่าไรดี
เนื่องจากเป็นการออมอย่างมีวินัย อยากแนะนำให้ทำแบบที่จ่ายเบี้ยประกันจำนวนไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนแต่ละเดือน เพราะเป็นสัดส่วนขั้นต่ำที่ดีของการออม แต่หากมีความสามารถในการออมก็สามารถเพิ่มตัวเลขขึ้นไปได้
 
เราควรจ่ายเบี้ยประกันปีละเท่าไร? และวางแผนเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง
 

3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance)

 
ประกันชีวิตแบบบำนาญ ออกแบบมาเพื่อบริหารความเสี่ยงเรื่องเงินไม่พอใช้ในยามเกษียณ ทำความเข้าใจง่ายๆ คือประกันชีวิตแบบที่จ่ายเงินก้อนให้เราอย่าสม่ำเสมอทุกเดือน หรือทุกปีเหมือนการรับบำนาญ นับตั้งแต่อายุ 55 หรือ 60 ปีไปจนกระทั่งอายุ 85 หรือ 90 ปี (แล้วแต่แบบประกัน) ประกันชีวิตแบบบำนาญมีความคล้ายกับแบบสะสมทรัพย์ที่เป็นการออมเงิน แต่จะเน้นไปที่การออมเงินเพื่อเกษียณเป็นหลัก
 
ข้อดี
เพราะประกันชีวิตแบบบำนาญเปรียบเสมือนแหล่งรายได้หลังเกษียณที่เพิ่มเติมจากประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีกทั้งยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 2 แสนบาท
 
ข้อเสีย
เบี้ยประกันค่อนข้างสูง หากต้องการเงินก่อนเวลาที่กำหนด (เวนคืน) จะได้รับเงินน้อยกว่าที่จ่ายไป
 
ควรซื้อเท่าไรดี
เพราะเป็นการทำไว้เป็นออมหลังเกษียณ ให้ควรคำนวณว่าหลังจากหยุดทำงานแล้วอยากได้เงินเดือนๆ ละเท่าไร เช่น เดือนละ 10,000 บาท ก็ต้องออกแบบบำนาญให้ได้จำนวนเท่านี้ แล้วลองเปรียบเทียบของแต่ละบริษัทว่ามีทุนประกันที่เท่าไรบ้าง
 

4. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Link)

 
ประกันชีวิตแบบควบการลงทุนเป็นแบบประกันชีวิตที่นำเบี้ยประกันที่เราชำระไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันคุ้มครองชีวิตและนำเบี้ยส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเราสามารถเลือกกอง และจัดพอร์ตลงทุนได้เอง
 
ข้อดี
มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบประกันอื่นๆ มีความยืดหยุ่นสูง เพราะกำหนดเบี้ยประกันที่จะจ่าย, ทุนประกัน, เวลาในการจ่ายเบี้ย และระยะเวลาคุ้มครองเองได้ และมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบประกันทุกแบบแต่ไม่การันตีผลตอบแทนจากส่วนของการลงทุน ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกองทุนรวม
 
ข้อเสีย
มีความเสี่ยงจากการลงทุน ไม่ได้ปลอดภัยเห็นตัวเลขผลตอบแทนแน่นอนเหมือนแบบประกันชนิดอื่น อีกทั้งต้องถูกหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
 
ควรซื้อเท่าไรดี
เป็นแบบประกันที่อยากแนะนำให้ซื้อหลังจากมีแบบประกันที่เป็นเงินออมอย่างมั่นคงแล้ว เพราะแบบนี้มีความเสี่ยงของการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งถ้ามีแบ่งโควต้าสำหรับเงินออมแล้วจำนวนหนึ่ง (แนะนำที่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน) ก็สามารถนำเงินส่วนที่เหลือมาลงทุนในแบบนี้ได้ตามความเหมาะสม
ลองดูไว้เป็นข้อมูลในการวางแผนดูนะคะ เพราะเราเชื่อว่าถ้าจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตของเราประสบความสำเร็จ นั่นคือไม่เกิดการทิ้งกรมธรรม์ไปกลางคัน อีกทั้งได้รับประโยชน์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
 
เครื่องมือคำนวณ
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา