5 เคล็ดลับวางแผนชีวิตหลังเกษียณให้มั่นคง
เพื่อยามเกษียณ
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

5 เคล็ดลับวางแผนชีวิตหลังเกษียณให้มั่นคง

icon-access-time Posted On 14 พฤศจิกายน 2562
by Krungsri The COACH
สำหรับหลายคนวัยเกษียณหมายถึงช่วงเวลาที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อที่จะหยุดพักจากการทำงาน ใช้เวลากับครอบครัว ลูกหลาน แต่บางคนอาจเกษียณไวกว่านั้นด้วยเหตุผลที่อยากพักผ่อนในเวลาที่มีเรี่ยวแรงอยู่ แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก่อนจะเกษียณตัวเองคือการวางแผนชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคงครับ

โดยเคล็ดลับง่ายๆ เพื่อวางแผนชีวิตหลังเกษียณมี 5 ข้อ คือ
  • เคล็ดที่ 1 ออมตั้งแต่เนิ่นๆ
  • เคล็ดที่ 2 ไม่เมินความเสี่ยงที่มี
  • เคล็ดที่ 3 ที่อยู่อาศัยต้องพร้อม
  • เคล็ดที่ 4 แวดล้อมด้วยมิตรสหาย
  • เคล็ดที่ 5 รู้ใจว่าจะทำอะไรในวัยหลังเกษียณ
ทั้ง 5 เคล็ดลับนี้มีรายละเอียดสำคัญอย่างไรบ้าง ลองมาดูกันเลยครับ
 

เคล็ดที่ 1 ออมตั้งแต่เนิ่นๆ

จุดเริ่มต้นชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพคือมีเงินก้อนไว้รองรับยามจำเป็น และเราจะมีเงินก้อนใหญ่ได้ด้วยการเริ่มออมตั้งแต่วันนี้

การออมเร็วส่งผลแค่ไหน ลองมาดูตัวอย่างการเก็บออมของคนสองคนกันครับ
  • น้องหมี อายุ 30 ปี เริ่มออมเดือนละ 1,000 บาท
  • พี่แมว อายุ 40 ปี เก็บออมเดือนละ 2,000 บาท

นำเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี มาดูกันว่าถ้า ทั้งคู่เก็บเงิน ยาวไปจนถึงวันเกษียณในอายุ 60 ปี จะมีเงินเท่าไหร่
 
วางแผนชีวิตหลังเกษียณ

เห็นมั้ยครับว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการเก็บเงินของน้องหมีเพียง 1,000 ต่อเดือน กับพี่แมวที่เก็บเงินมากกว่าเป็น 2 เท่า นั้น ผลลัพธ์สุดท้ายน้องหมีก็ยังมีเงินสะสมสูงกว่าพี่แมว เพราะน้องหมีเก็บเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ถ้าเราเก็บออมเฉยๆ แบบไม่มีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง พี่แมวคงจะมีเงินออมที่มากกว่าน้องหมีเป็นแน่

แต่ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้นทำให้ระยะเวลาเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญทำให้ยิ่งออมนานก็ยิ่งเห็นพลังของดอกเบี้ยทบต้น แต่ทว่าการเกษียณยังมีปัจจัยอื่นที่จำเป็น เราจึงต้องหาทางเพิ่มมูลค่าเงินออมของตัวเอง อย่างยิ่งใครที่ออมไม่เก่งไม่มั่นใจในการลงทุน อยากจะเริ่มต้นก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการลงทุนผ่านกองทุนรวม

เพื่อเป็นการต่อยอดการวางแผนชีวิตหลังเกษียณให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
 

เคล็ดที่ 2 ไม่เมินความเสี่ยงที่มี

หากจะพูดถึงวัยเกษียณ สิ่งหนึ่งที่แม้อยากจะเลี่ยงแต่ก็คงเลี่ยงไม่ได้คืออาการเจ็บป่วย การเจ็บออดๆ แอดๆ ก็ว่าลำบากแล้ว แต่ถ้าเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมาอาจส่งผลกระทบกับทั้งตัวคุณและคนรอบข้าง ไปจนถึงเงินเก็บออมซึ่งอาจหมดไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ช่วยได้อย่างแรกคือการหมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่เนิ่นๆ ครับ เพราะร่างกายเรานับวันก็เสื่อมถอยไปตามสภาพ แต่จะเสื่อมช้า เสื่อมเร็ว ล้วนขึ้นกับสิ่งที่ทุกคนทำกันในช่วงเวลาปัจจุบัน อีกทั้งการออกกำลังกายยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้าย หรือบรรเทาไม่ให้โรคลุกลามได้ง่ายในอนาคตด้วย

นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพตัวเอง อีกสิ่งที่สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้คือการทำประกันครับ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยหรือประกันสุขภาพ ที่นอกจากจะแบ่งเบาค่ารักษาได้แล้ว หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ฝั่งลูกหลานก็ยังได้เงินก้อนที่ช่วยให้ครอบครัวยังสามารถก้าวเดินไปต่อได้ด้วยเช่นกัน
 
วางแผนชีวิตหลังเกษียณ

เคล็ดที่ 3 ที่อยู่อาศัยต้องพร้อม

การซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เงินจำนวนมาก หากจะซื้อเพื่อลงทุนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ถ้าจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจนถึงยามเกษียณก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ในปัจจุบันเราก็มีตัวเลือกอสังหาริมทรัพย์มากมายหลายรูปแบบ แต่ตัวเลือกใหญ่ๆ ที่มักแบ่งคนเป็นสองฝ่ายเสมอคือเลือกจะอยู่บ้านหรือคอนโดดี ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลต่อตัวเราและครอบครัวของเราในอนาคตด้วยเช่นกัน

ซึ่งเราขอแนะนำด้วยหลักการการอยู่อาศัยแบบง่ายๆ ว่า หากคุณอยู่คนเดียวการเลือกอยู่คอนโดในแถบตัวเมืองที่เน้นไปมาสะดวก ไม่ห่างจากสถานที่ทำงานหรือรถไฟฟ้ามากนัก อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะคล่องตัว ดูแลง่าย

แต่ถ้าคุณมีครอบครัว มีลูก และชอบทำกิจกรรมในที่โล่ง การมีบ้านก็คงเป็นตัวเลือกที่ตรงกับความต้องการมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของตัวคุณและครอบครัวเป็นสำคัญ เพราะขึ้นชื่อว่าบ้าน ผู้อยู่อาศัยก็ควรมีความสุขทุกครั้งที่ได้อยู่ครับ


เคล็ดที่ 4 แวดล้อมด้วยมิตรสหาย

สิ่งที่ผู้สูงอายุวัยเกษียณหลายคนต้องเผชิญ...คือความเหงา

ถึงจะดูแปลกแต่ขอบอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตลกแต่อย่างใด เราเห็นผู้สูงอายุในสังคมมากมายไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือยังไม่ได้พัฒนาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่มีใครรู้ อีกทั้งยังมีอาการเฉา หรือหมดอาลัยตายอยากเพราะไม่มีคนคุยด้วย

ดังนั้นสิ่งที่คนวัยเกษียณจะลืมไม่ได้เลยคือการ “หาเพื่อน” ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนกลุ่มเก่าๆ หรือกลุ่มใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นวัยเดียวกันก็ได้ ขอเพียงแค่พูดคุยด้วยกันเพื่อคลายเหงา ช่วยเหลือกันในบางเวลา มิตรภาพเหล่านี้จะช่วยให้การวางแผนชีวิตวัยหลังเกษียณมีคุณค่าขึ้นอีกมากเลยล่ะครับ

 

เคล็ดที่ 5 รู้ใจว่าจะทำอะไรในวัยหลังเกษียณ

ต่อให้บอกว่าวัยเกษียณคือวัยที่จะได้พักผ่อนจากการทำงาน แต่ก็ใช่ว่าจะปล่อยชีวิตให้ว่างเปล่าไปเลย นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว จะดีกว่ามั้ยที่จะหางานอดิเรกหรืองานเบาๆ ทำเพื่อหารายได้เสริม ไปจนถึงผ่อนคลายตัวเอง เช่น งานเขียน งานศิลปะ ไปจนถึงการทำอาหาร
 
วางแผนชีวิตหลังเกษียณ

การเลือกเรียนอะไรเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย จากการอยู่บ้านรดน้ำต้นไม้ อาจศึกษาเพิ่มเรื่องการจัดสวน ปลูกผักสวนครัวลดค่าใช้จ่ายจิปาถะไปได้อีกทาง

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของอนาคต แต่การวางแผนสำหรับชีวิตหลังเกษียณไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวในด้านต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น การพิจารณาเรื่องราวในปัจจุบันและแก่ชราลงอย่างมีคุณภาพ ดีกว่าการไม่เตรียมสิ่งใดแล้วมาเสียดายในช่วงบั้นปลาย

ถ้าคุณอ่านแล้วอยากลองวางแผนเพื่อชีวิตหลังเกษียณของตัวเอง เราขอแนะนำว่าลองคำนวณการเก็บเงินและลงทุนที่ เครื่องคำนวณเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ ก่อนครับ ถ้าหากจะวางแผนให้ลึกยิ่งขึ้นสามารถปรึกษาพวกเราได้ที่ ปรึกษาการวางแผนการเงินกับกรุงศรี เพื่อการเกษียณที่สบายใจได้มากขึ้น
 
บทความโดย
ปริตา ธิติปรีชาพล
กลุ่มบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา