ประกันแบบไหน ลดหย่อนภาษีได้บ้าง

0 Share
0
ประกันแบบไหน ลดหย่อนภาษีได้บ้าง


ประกันแบบไหนที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้บ้าง 

ใกล้เข้ามาแล้ว ฤดูกาลเสียภาษี เชื่อว่ามนุษย์ผู้มีรายได้ทั้งหลายต้องเตรียมวิ่งวุ่นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีกันอยู่ใช่ไหมล่ะ “เราเคยไปบริจาคช่วยการกุศลมานี่” “เราอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย” แต่หนึ่งในตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่อย่ามองข้ามก็คือ การทำประกัน นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ ซึ่งแต่ละประกันก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป เราจะมาช่วยไขข้อสงสัย ว่าประกันแบบไหนใช้ลดหย่อนภาษีได้แตกต่างกันอย่างไร
 
ประกันชีวิต
1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
เน้นความคุ้มครองระยะยาว โดยที่คุณต้องจ่ายเบี้ยประกันนานตั้งแต่5-20 ปีขึ้นไป และได้รับความคุ้มครองแบบตลอดชีพ (จนอายุครบ 90 ปี ขึ้นไป) เหมาะกับคนที่มีกำลังชำระเบี้ยระยะยาว และต้องการความมั่นคงในชีวิต หรือส่งทอดเป็นมรดกให้กับผู้ที่อยู่ในความอุปการะ
-    หากผู้เอาประกัน มีชีวิตอยู่ถึงวันครบกำหนดกรมธรรม์  บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินเอาประกันให้กับผู้เอาประกัน เป็นเงินก้อนอุ่นใจไว้ใช้จ่าย/รักษาพยาบาลยามชรา เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น
-    แต่หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินเอาประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันได้ระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์  กรณีนี้จึงเสมือนเป็นเงินมรดกให้ลูกหลานหรือเป็นเงินทุนสำหรับจุนเจือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะหลังจากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต
 
2. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
จะมีระยะเวลาคุ้มครองให้เลือกได้ ซึ่งเหมาะกับคนที่มีงบประมาณจำกัด วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง การเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่น ๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา
 
3. ประกันชีวิตสะสมทรัพย์
เน้นการออมเงินเป็นหลัก โดยได้รับผลตอบแทนตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด เหมาะกับคนที่มีเป้าหมายและวางแผนทางการเงินเพื่อในอนาคต เช่น เป็นเงินเผื่อเกษียณ เป็นต้น

ประกันสุขภาพ
สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยประกันสุขภาพที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ เช่น
•          คุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ
•          คุ้มครองและชดเชยการทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ และกระดูกหัก
•          ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง
•          ประกันภัยการดูแลระยะยาว
 
ประกันบำนาญ
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำไปลดหย่อนได้ โดยมีขั้นตอนการคำนวณ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1.  สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่ทั้งนี้หากผู้เอาประกันภัยไม่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
 
ขั้นตอนที่ 2.  นำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่เหลือจากขั้นตอนที่ 1 ไปลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินได้ที่จ่ายเข้ากองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
ไม่ว่าคุณจะเลือกทำประกันแบบไหน เพื่อเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษี ควรพิจารณาถึงความคุ้มครองที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับชีวิตคุณที่สุดด้วย  

Sources
https://www.oic.or.th/th/consumer/การประกันชีวิต#10
https://www.itax.in.th/pedia/เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป
https://www.itax.in.th/media/เรื่องต้องระวัง-ซื้อประกันลดหย่อนภาษี/
https://www.finnomena.com/insuremonster/term-insurance
< ย้อนกลับ