นักศึกษาเก็บเงินอย่างไร...ถึงได้เป็นกอบเป็นกำ

0 Share
0
นักศึกษาเก็บเงินอย่างไร...ถึงได้เป็นกอบเป็นกำ
 

รู้ไหมว่าวัยเรียนเป็นวัยที่มีโอกาสเก็บเงินได้มากที่สุดแล้วนะ นั่นก็เพราะว่ายังไม่มีภาระมากวนใจ ไม่มีหนี้บัตรเครดิต ไม่ต้องผ่อนบ้าน ไม่มีหนี้ค่าผ่อนรถ แต่ในวัยเรียนกลับเป็นวัยที่เงินหมดไปกับการกินเที่ยวกับเพื่อนๆ สนุกจนลืมตัว ไม่ต้องไปพูดถึงเงินเก็บเลย แค่มีเงินใช้ให้พอหนึ่งเดือน โดยไม่ต้องขอทางบ้านเพิ่มก็ดีแค่ไหนแล้ว เราอยากชวนมาเปลี่ยนมุมมอง พร้อมเสนอแนะทริคการเก็บเงินก้อนแบบฉบับนักศึกษา บอกเลยว่าเก็บดีๆ ได้เงินก้อนใหญ่แบบไม่รู้ตัว

 
ทริคออมทีละนิดแต่เก็บเงินได้เป็นก้อน ทริคที่เราอยากจะแนะนำต่อไปนี้ เป็นการเก็บเงินที่ได้มาจากทางบ้าน หรือบางคนอาจทำงานพิเศษ หรือมีรายได้เสริมอื่นๆ ด้วย ก็นำมาออมรวมกันได้ เมื่อมีเงินเก็บเป็นก้อนได้แล้วนั้น เราจะเก็บเงินก้อนไว้ให้อุ่นใจ หรือซื้อของที่อยากได้มานานหรือหัดเริ่มเรียนรู้การนำเงินไปลงทุนก็เป็นไปได้ เรามาลองดูกันว่า ถ้าทำตามทริคเหล่านี้แล้ว จะมีเงินเก็บก้อนใหญ่กันได้เท่าไหร่  

ตั้งเป้าเก็บเงินแบบโอเว่อร์

อันดับแรกเลย ต้องกำหนดเป้าหมายในการเก็บเงินก่อนนะ ไม่งั้นอาจจะเก็บเงินสะเปะสะปะได้ เดือนนี้เก็บบ้าง อีกเดือนลืมเก็บ สุดท้ายแล้วก็เลิกเก็บเงินไปโดยไม่รู้ตัว ลองเปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเงินเพื่อซื้อของอะไรสักอย่างที่อยากได้มากๆ ดูเพราะสิ่งนั้นจะทำให้มีแพชชั่นที่จะเก็บเงิน เช่น เก็บเงินเพื่อถอยโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่อยากได้มานาน สมมติว่าราคาโทรศัพท์อยู่ที่ 10,000 บาท ลองเก็บเงินให้มากกว่าราคาโทรศัพท์ดู โดยเก็บเพิ่มอีก 5,000 บาท เป็น 15,000 บาท พอเรานำเงินที่เก็บได้ไปซื้อของที่เราอยากได้แล้ว เราก็ยังเหลือเงินให้เก็บอีก  5,000 บาท ถือเป็นเงินตั้งต้นที่เราจะเก็บเพื่อเป้าหมายครั้งต่อไปก็ได้

แล้วจะเก็บยังไงให้ได้ถึง 15,000 บาทละ อย่าคิดว่ามันเป็นเงินก้อนใหญ่ ค่อยๆ เก็บ สมมติว่าได้รับเงินรายเดือนๆ ละ 6,000 บาท เท่ากับใช้วันละ 200 บาท วันไหนไม่มีเรียน เช่น ตรงกับเสาร์อาทิตย์ก็ให้งดใช้เงินนำมาเก็บลงกระปุกเลย เดือนหนึ่งเธอก็จะเก็บได้ 1,600 บาท เป็นเวลา 9 เดือนครึ่ง ก็จะได้เงินก้อนมาถอยโทรศัพท์ใหม่ได้แล้ว

ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นระบบ

การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งที่พึงกระทำและควรฝึกทำไว้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ ทำให้เป็นนิสัย จะได้รู้ว่าแต่ละวัน แต่ละเดือนเสียเงินไปกับค่าอะไร เป็นจำนวนเท่าไหร่บ้าง ให้ลงเป็นบันทึกทางการเงิน หรือลงเป็นบัญชีรายวัน แล้วจะได้เห็นว่า ใช้จ่ายไปกับอะไร ของที่ซื้อไปนั้นสมควรเสียเงินซื้อไหม บางครั้งของที่เราซื้อไปนั้นอาจไม่จำเป็นเลยก็ได้ นำเงินนั้นมาเป็นเงินออมได้เลย ถ้าหากไม่อยากจดบันทึก ก็ลองหาแอปฟลิเคชั่นบันทึกลงแทนก็ได้ สะดวกสบายไม่ยุ่งยาก มายกตัวอย่างเช่น
  • ใช้เงินวันละ 200 บาท
  • ค่าข้าว 100 บาท
  • ค่ารถ 50 บาท
เท่ากับเหลือเก็บ 50 บาท (จริงๆ ก็คล้ายๆ รูปแบบที่บางคนเก็บแบงค์ 50 บาทนะ)

ตัดกิเลสตัวการใช้เงินออกไป

กิเลสการใช้เงิน ก็พวกช้อปปิ้งซื้อของทั่วไปที่อาจไม่จำเป็น จนไปถึงปาร์ตี้ทั้งหลาย เป็นตัวการขุดเงินออกจากกระเป๋าเลยหละ ถึงเราจะแย้งว่า วัยรุ่นต้องมีกินเที่ยว ช้อปปิ้งเป็นเรื่องธรรมดา แต่รู้ไหมเป็นตัวขุดเงินออกไปเยอะเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเราควรจัดสรรปาร์ตี้อย่างมีระบบ แฮ้งเอ้าท์กับเพื่อนแค่เดือนละครั้งสองครั้งก็พอ ส่วนสายช้อปก็ให้รางวัลตัวเองเบาๆ แค่ 2-3 เดือนซื้อทีก็พอ ไม่ต้องถี่แบบเดือนละครั้งหรอก ซื้อแค่พอให้เรามีกำลังใจท่องหนังสือ หรือให้รางวัลตัวเองที่สอบได้  

ออมเงินกับธนาคาร

แน่นอนว่าเมื่อเป็นนักศึกษา เงินรายได้หลักจะมาจากทางบ้านให้เป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เช่น ค่าเดินทางไปเรียน ค่าอาหาร ค่าช้อปปิ้ง ก็อาจจะเหลือไม่มากนักให้เก็บ ในเมื่อมีเงินจำนวนไม่มากแบบนี้ วิธีดีที่สุดในการออมที่เริ่มต้นก็ยังไม่สาย คือการเก็บเงินฝากธนาคาร โดยสามารถรวบรวมเงินแล้วเก็บฝากเป็นรายเดือน จะจำนวนมากหรือน้อยก็ตามกำลังไหว จะเดือนละ 500, 1,000 บาท หรือมากกว่านั้นก็ได้ ถือเป็นการเริ่มต้นการออมที่ดีมากแล้ว

เห็นไหมว่า เก็บเงินก้อนไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมละ ลองทำตามทริคที่เราแนะนำดูก็ได้ จะทำให้ครบทุกข้อหรือเลือกเฉพาะทริคที่คิดว่าทำได้ มั่นใจได้เลยเป็น นักศึกษาก็ได้จับเงินก้อนแน่นอน..  


Sources:
https://www.dek-d.com
https://money.kapook.com
https://moneyhub.in.th

 
< ย้อนกลับ