หาเงินเป็นยังไม่พอ ต้องรู้จักใช้เงินทำงานแทนด้วย!

0 Share
0
Always-On-Article_No-6_KSC_Money-Matters_Final_1012x530.jpg
แม้ทุกวันนี้รายได้ส่วนใหญ่ของเรามาจากการทำงาน วันที่ยังมีแรงทำงานมันก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไรหรอก แต่ถ้าหากวันหนึ่งไม่มีแรงทำงานแล้ว เราจะเอาเงินมาจากไหน? ถ้าไม่รู้จักให้เงินทำงานแทน

 
ลองนึกภาพของตัวเองในวัยชราที่แสนจะโศกเศร้ากับการพึ่งพาลูกหลานที่ไม่รู้ว่าจะมี หรือมีก็ไม่รู้ว่าพึ่งได้หรือเปล่านั้น มันเป็นความทุกข์ทนที่คนในสังคมหลายคนต้องเจอ ซึ่งส่งผลให้ชีวิตในวัยใกล้ฝั่งต้องมาพังแบบไม่คาดคิด และคอยโทษตัวเองทุกขณะจิตว่า ถ้าก่อนหน้านี้เราเก็บเงินไว้หรือรู้จักจัดการเงิน ชีวิตก็ไม่ต้องเป็นแบบนี้ แถมยังต้องรู้สึกไม่ดีที่ลูกหลานต้องมาลำบากเพราะเราอีกต่างหาก
 
ลองนึกภาพกลับกัน ถ้าหากเราเป็นคนในวัยเกษียณที่อยู่อย่างสบาย ก็จะสามารถตัดวงจรแห่งความลำบากของลูกหลานไปได้ ต่างคนต่างดูแลรับผิดชอบชีวิต ทำมาหากินจัดการการเงินเลี้ยงชีวิตกันไป มีแต่ความสุขความสบายใจกันทั่วหน้า
 
ดังนั้น ถ้าอยากอยู่อย่างสุขสบาย มีเงินใช้ ไม่ติดขัด ก็ต้องฉลาดใช้ให้เงินทำงานแทนตามแนวทางต่างๆ ที่มี และเท่าที่เราเข้าใจและยอมรับได้ เพราะการลงทุนในโลกนี้มีมากมายหลายประเภท ทั้ง เงินฝาก  กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ หุ้น สินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น ความสามารถในการเลือกลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ
 
1-Asset_TIF_Feb-2018.png

(ที่มา: Thailand Investment Forum)

จากอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น สำคัญตรงที่การเลือกลงทุนทรัพย์สินที่ถูกประเภท โดยการเลือกที่ว่านี้ ไม่ใช่เลือกจากสินทรัพย์ไหนได้ผลตอบแทนมากที่สุด แต่คือการเลือกให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงในชีวิตเราที่ยอมรับได้ ร่วมกับการวางแผนอนาคตอย่างถูกต้อง มีการจัดสัดส่วนพอร์ทการลงทุนได้อย่างเหมาะสม
 
ส่วนการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงนั้น แปลว่าเราต้องแลกมาด้วยความรู้ที่มากขึ้น และมีความเข้าใจในทรัพย์สินนั้นๆ พร้อมทั้งรู้ข้อจำกัดในการลงทุนด้วย เช่น หุ้นบางตัวมีความเสี่ยงที่ราคาจะผันผวนตามสภาพตลาด หรือปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นๆ รวมถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (ลงทุนแล้วขายไม่ได้ทันทีหรือไม่มีผู้เช่า) หรือการลงทุนในทองคำมีความเสี่ยงจากความผันผวนที่ไม่อาจจะคาดเดาความต้องการได้ ซึ่งถ้าเรารู้มากก็จะมีโอกาสมาก แต่ถ้าเรารู้น้อย เราควรมองหาการลงทุนที่สร้างโอกาสให้เรามีเวลามากขึ้น เพราะถ้าหากเราจะศึกษาเพื่อเป็นผู้รู้ทุกอย่าง คงจะลำบากในการทำมาหากินแน่นอน

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการลงทุนในกองทุนรวมที่มีสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เลือกลงทุน โดยมีผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถทำหน้าที่ดูแลให้แทน เพียงแค่เรารู้จักเลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่เรายอมรับได้จากการทำแบบทดสอบความเสี่ยงในการลงทุน ร่วมกับการวางแผนทยอยสะสมเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่แตกต่างไปตามความต้องการ ในที่สุดแล้วเราจะได้ทั้งการทำงานที่เรารักและได้เงิน และปล่อยให้เงินที่ได้มาช่วยทำงานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเราตามไปด้วย
 
2-Set_Info_Asset-Ports.png
(ที่มา: www.set.or.th)
 
ตัวอย่างการจัดพอร์ทการลงทุนจากความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยประเมินจาก
1. อายุ
2. ความรู้การลงทุน
3. ระยะเวลา
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้เราทราบว่าความเสี่ยงที่รับได้สูงนั้นจะมาจาก 3 ปัจจัยที่ว่านี้ ดังนั้น ถ้าหากเราเป็นคนที่อายุยังน้อย ที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน แถมรับความเสี่ยงได้มาก การจัดพอร์ทโดยให้น้ำหนักไปที่กองทุนรวมตราสารทุนมากขึ้นก็จะทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย
 
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สภาพคล่อง โดยเงินที่ต้องนำมาใช้ลงทุนควรเป็นเงินเย็น (ไม่ใช่เงินเยนของญี่ปุ่น) แต่เป็นเงินที่เราสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ เหมือนกับปล่อยให้ลงทุนแล้วลืมไปนั่นเอง ซึ่งแปลว่าเราต้องเตรียมพร้อมเรื่องการใช้จ่าย เงินออมฉุกเฉินและความจำเป็นต่างๆ ไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะมาลงทุนนั่นเอง อย่าประมาทการใช้ชีวิตจนเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาลงทุน เพราะถ้าหากผลมันไม่เป็นอย่างที่คิด อาจจะทำให้ชีวิตเรามีปัญหาได้เหมือนกัน
 
นอกจากนั้น ถ้าเราเป็นคนที่ต้องเสียภาษี อาจจะมองหากองทุนที่ช่วยประหยัดภาษีอย่าง LTF และ RMF มาใช้แทนการจัดพอร์ทลงทุนระหว่าง กองทุนหุ้น (LTF) กับกองทุนประเภทอื่นๆ (RMF) หรือผสมกันตามความต้องการที่แตกต่างไป เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยในการจัดการเก็บเงินอย่างมีวินัย และได้ผลประโยชน์ทางด้านภาษีไปพร้อมๆ กัน
 
จะเห็นว่า ถ้าหากเรามีความเข้าใจในทรัพย์สินที่ใช้เงินลงทุนแล้วปล่อยให้ทำงาน ร่วมกับความเข้าใจในการยอมรับความเสี่ยงและจุดประสงค์ในการลงทุนของตัวเองแล้วล่ะก็ เงินก้อนนั้นมันก็จะทำงานได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง และช่วยในการประหยัดเวลาในการทำงานหาเงินสำหรับการใช้ชีวิตที่เหลือของเราได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกัน
 
 
< ย้อนกลับ