Nudge Theory ทฤษฎีช่วยเก็บเงิน...เก็บไม่อยู่ให้มันรู้ไป

0 Share
0
Nudge Theory ทฤษฎีช่วยเก็บเงิน...เก็บไม่อยู่ให้มันรู้ไป

อยากเก็บเงินแต่ทำไมทำไม่ได้สักที? บางทีแค่วิธีการเก็บเงินแบบทั่ว ๆ ไป อาจยังไม่เพียงพอให้คุณบังคับใจและมีวินัยจนเก็บเงินสำเร็จก็เป็นได้  ลองเอาทฤษฎีที่เรียกว่า Nudge Theory มาช่วยซิ ทฤษฎีการเก็บเงินของดร. ริชาร์ด เอช. เธเลอร์ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2560 จากแนวคิด Nudge Theory หรือ "ทฤษฎีผลักดัน" ว่าแต่ทฤษฎีนี้จะช่วยเก็บเงินได้อย่างไร มาดูกัน

 
Nudge Theory เป็นการดีไซน์ทางเลือกไม่ใช่การบังคับให้กับเรา เพื่อให้ทำในสิ่งที่เราต้องการ คนเราโดยปกติแล้วไม่ค่อยจะได้คิดถึงเป้าหมายในระยะยาว คิดถึงแต่เพียงเป้าหมายในระยะสั้น ๆ การเก็บเงินเหมือนเป็นการบีบบังคับใจ จึงทำให้หลายคนรู้สึกเครียดจนเกินไปจึงทำไม่บรรลุเป้าหมาย แต่ทฤษฎีนี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการเก็บเงิน เพื่อให้เก็บสำเร็จนั่นเอง โดยมี 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ
 
ให้รางวัลตัวเอง - ทำดีต้องมีรางวัล
            ถือเป็นหนทางสร้างแรงบันดาลใจในการเก็บเงินเลยก็ว่าได้ นั่นคือ การให้รางวัลตัวเอง โดยการที่คุณกำหนดรางวัลเอาไว้ หากเก็บเงินได้ตามเป้าหมายจะให้รางวัลนั้นกับตัวเอง ยกตัวอย่าง คุณตั้งเป้าหมายในการเก็บเงิน ไม่ต้องยิ่งใหญ่มากมายอะไร เช่น เก็บเงินให้ได้เดือนละ 2,000 บาท หากเก็บได้ครบ 1 ปี จะให้รางวัลตัวเองด้วยการซื้อของที่อยากได้ 1 ชิ้น ในงบไม่เกิน 4,000 บาท เป็นต้น เพียงแค่นี้คุณจะมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้นในการเก็บเงิน

เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน - เพื่อให้ถึงเป้าหมาย
            เมื่อคุณกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเก็บเงินให้ได้ทุกเดือน ๆ ละ 2,000 บาท และเมื่อถึงสิ้นปี ครบกำหนดจะได้ให้รางวัลตัวเอง ขณะเดียวกันพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น จากที่เคยนัดเพื่อน ๆ ปาร์ตี้สังสรรค์ เดือนละครั้ง อาจต้องเปลี่ยนเป็นนัดสองเดือนครั้ง หรือเปลี่ยนจากปาร์ตี้ มาทำกิจกรรมอย่างอื่น ร่วมกันที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้จ่ายน้อยแทน
 
แยกเงินออกเป็นส่วน ๆ - ทำรายการบัญชีแยก
            จะเก็บเงินให้ได้สำเร็จตามเป้าหมายนั้น ต้องอาศัยการวางแผนและการจัดการที่ดีด้วย โดยการแยกเงินออกเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน คุณอาจแยกออกเป็นแต่ละบัญชีเลยก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เช่น บัญชีสำหรับเงินเก็บ บัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน บัญชีสำหรับไว้เป็นเงินลงทุน จะได้ไม่ปนกัน และไม่เผลอไปเอาเงินเก็บมาใช้จ่ายจนเพลิน
 
ตรวจดูยอดเงินสม่ำเสมอ - จะได้ไม่เผลอใช้จนหมด
            ถึงวิธีตรวจดูยอดเงินจะทำให้เราชีช้ำ เพราะเงินค่าใช้จ่ายรายเดือนของเรามันจะค่อย ๆ หดลงเมื่อใกล้จะสิ้นเดือนก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่เราพึงกระทำให้เป็นนิสัย จะได้ไม่เผลอใช้เงินซื้อของฟุ่มเพือย หรือของไม่จำเป็น โดยส่วนที่เป็นเงินเก็บนั้น ควรแยกออกมาเก็บไว้ในบัญชีเงินเก็บตั้งแต่ต้นเดือนเลย คุณอาจใช้วิธีการหักเงินจากบัญชีอัตโนมัติเลยก็ได้ เพื่อไม่ให้ลืมนำเงินเก็บจำนวนนี้เข้าบัญชี
 
            Nudge Theory เป็นทฤษฎีที่ช่วยส่งเสริมการเก็บเงินของคุณ แต่ที่สำคัญคุณต้องมีวินัยและความตั้งใจที่แน่วแน่ ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่คุณควรต้องมี เพื่อให้สามารถ บรรลุเป้าหมาย
 
Source
https://lifestyle.campus-star.com
 
< ย้อนกลับ