ทำงานฟรีแลนซ์ให้ปัง ต้องฟังเคล็ดลับจาก ‘Fastwork’ กูรูฟรีแลนซ์ตัวจริง

0 Share
0
 ทำงานฟรีแลนซ์ให้ปัง ต้องฟังเคล็ดลับจาก "Fastwork"

มาถึงยุคนี้แล้วคงมีน้อยคนที่ไม่รู้จัก ‘ฟรีแลนซ์’ หรืออาชีพรับจ้างอิสระ ที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นตรงกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ต้องอยู่ในระบบบริษัทเฉกเช่นคนรับเงินเดือนประจำโดยทั่วไป
 
ถึงจะฟังดูหอมหวาน มีอิสระเสรีในการจัดการชีวิตตัวเอง แต่หลายๆ คนก็ยังมีคำถามอยู่ในใจ เช่น จะมั่นคงพอเลี้ยงชีพไหม ? จะลาออกมาทำฟรีแลนซ์เต็มตัวเลยดีหรือเปล่า ? ที่สำคัญก็คือ จะเริ่มต้นยังไง ?
 
คำถามพวกนี้คงจะไม่มีใครให้คำตอบได้ดีกว่าฟรีแลนซ์ตัวจริงอย่างเช่น คุณพัชรา จิรจตุรพักตร์ (คุณมุ่ย) รวมถึงคุณจิรัฎฐ์ วิภากุล (คุณเบน) และคุณชญานิน จักรานุกุล (คุณนิน) ซึ่งเป็นทีมผู้บริหารจาก Fastwork แพลตฟอร์มตัวกลางที่ทำให้ชาวฟรีแลนซ์กับผู้จ้างงานได้มาเจอกัน โดยเราสรุปเนื้อหาแน่นๆ เน้นๆ รวมถึงเคล็ดลับดีๆ กับการเริ่มต้นเป็นฟรีแลนซ์ จากรายการ ‘More Money Talk ทำไงดีให้มีเงินเพิ่ม จากเฟซบุ๊ก กรุ๊ป ‘ชมรมคนมีตังค์’ ในโครงการ ‘ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ตอน ใช้เงินเป็น เห็นทางรวย’ โดย กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในหัวข้อ 'สารพัดงาน Freelance กับ Fastwork' มาให้คุณอ่านข้างล่างนี้แล้ว
               
จะเริ่มต้นทำฟรีแลนซ์ยังไง ?
           
ต้องบอกก่อนว่าการทำฟรีแลนซ์นั้น ไม่จำเป็นเสมอไปว่าคุณจะต้องลาออกมาทำงานอยู่ที่บ้าน เพราะจากสถิติที่ทาง Fastwork เคยทำสำรวจไว้พบว่า ฟรีแลนซ์ที่มาลงทะเบียนกับทางเว็บไซต์กว่าครึ่งหนึ่งเป็นพนักงานประจำรับเงินเดือนนี่แหละ แต่ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานมารับทำงานฟรีแลนซ์หารายได้เสริม เรียกได้ว่าเป็นฟรีแลนซ์ประเภทฟรีไทม์ เงินเดือนก็ได้ รายได้เสริมก็มี
 
ถ้าเริ่มสนใจการทำงานฟรีแลนซ์แล้วล่ะก็ สิ่งแรกที่คุณควรจะทำก็คือ มองหาความสามารถในตัวคุณที่สามารถหาเงินได้ บางคนอาจจะต่อยอดจากสิ่งที่เคยเรียน หรืองานประจำเดิมก็ได้ เช่น ปกติทำกราฟฟิกอยู่ในบริษัทออกแบบ คุณก็อาจจะเริ่มจากรับทำแบนเนอร์ลงบนเฟซบุ๊ก ถ้าเป็นนักศึกษาที่เรียนภาษา อาจจะลองรับงานแปลเอกสารดูก็ได้
 
แล้วจะหาลูกค้าจากที่ไหน ?
 
ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่าจะหาลูกค้าจากที่ไหน ก็ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ Fastwork.co ที่ได้เปิดพื้นที่ให้คุณหางานหลากหลายมากถึง 65 หมวดหมู่ อาทิ งานออกแบบกราฟฟิก เขียนคอนเทนต์ งานการตลาด แม้แต่คอลเซนเตอร์ หรือเน็ตไอดอลรับรีวิวของก็มี
 
เพียงคุณเข้าไปสมัครลงทะเบียน กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวคุณให้ครบถ้วน ส่งเอกสารยืนยันตัวอีกนิดหน่อย หลังจากนั้นคุณก็สามารถเขียนรายละเอียดการรับงาน และอัพโหลดพอร์ตโฟลิโอ เพื่อโชว์ศักยภาพให้ผู้ว่าจ้างเห็นและมั่นใจก่อนเลือกจ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ คุณควรจะใส่ผลงานให้หลากหลายและครอบคลุม หากเคยทำงานหรือรับงานจากองค์กรใหญ่ๆ มาก่อน ก็อย่าลืมใส่เข้าไปด้วย เพราะจะทำให้คุณมีภาษีดีกว่าฟรีแลนซ์คนอื่นๆ
 
ต้องระบุรายละเอียดการรับงานยังไง ? ต้องตั้งราคาเท่าไหร่ ? แล้วจะได้เงินชัวร์ๆ ใช่หรือไม่ ?

ใจเย็นๆ ก่อนครับ มันไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้น เพราะ Fastwork ก็มีคำแนะนำสำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่บนเว็บไซต์รออยู่แล้ว หรือถ้าจะให้ดีก็ลองแวะไปดูตัวอย่างการเขียนรายละเอียดรับงานของฟรีแลนซ์คนอื่นๆ ที่รับงานประเภทเดียวกันกับคุณก็ได้
 
เรื่องการทำสัญญานั้น ทางฟรีแลนซ์ก็สามารถตกลงกับผู้ว่าจ้างได้เอง หลังจากนั้นระบบของ Fastwork ก็จะร่างสัญญาให้ ส่วนเรื่องการรับเงินค่าจ้างที่ใครก็ชอบพูดว่าปวดหัวนักหนา Fastwork ก็ดูแลให้โดยเป็นตัวกลางผู้ถือเงินไว้ เมื่อผู้จ้างรับงานเสร็จแล้ว เงินก็จะถูกโอนเข้าบัญชีของฟรีแลนซ์ตามที่แจ้งไว้ สำหรับผู้ว่าจ้างก็ไม่ต้องกังวล เพราะถ้างานไม่ได้คุณภาพ หรือฟรีแลนซ์ไม่ยอมส่งงาน ก็สามารถร้องเรียนผ่านระบบได้เช่นเดียวกัน
 
เคล็ดลับสำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่
           
ถ้าความฝันของคุณคือการออกจากงานประจำ แล้วมาทำฟรีแลนซ์แบบเต็มตัว ลองดูเคล็ดลับดีๆ จาก 3 กูรูฟรีแลนซ์ คุณพัชรา จิรจตุรพักตร์, คุณจิรัฎฐ์ วิภากุล และคุณชญานิน จักรานุกุล แนะนำดังนี้
               
1.ออมเงินให้เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตโดยไม่มีรายได้เลย 6 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันว่าถ้าลาออกมาแล้ว คุณจะยังมีเงินให้ใช้อยู่ ซึ่ง 6 เดือนก็คำนวณจากช่วงเวลาที่น่าจะเพียงพอให้คุณหางานได้แล้ว พนักงานประจำบางคนก็ใช้วิธีเก็บเงินที่ได้จากงานฟรีแลนซ์ทั้งหมดไว้เป็นเงินออม แล้วใช้จ่ายจากเงินเดือนอย่างเดียว ก็ทำให้การออมเงินเป็นไปได้เร็วขึ้น
 
2.จัดคิวบริหารเวลาทำงานให้ดี อย่ารับงานมากเกินความสามารถ เพราะรีวิวจากลูกค้าสำคัญต่อการทำฟรีแลนซ์มากๆ ไม่ว่าจะรับงานจาก Fastwork หรือรับงานเองก็ตาม

3.ทำพอร์ตผลงานให้โดดเด่น สวยงาม ครอบคลุมทุกประเภทงานที่คุณทำได้ พร้อมระบุขั้นตอนการรับส่งงานให้ละเอียด เพื่อลดความยุ่งยากในการเจรจากับผู้ว่าจ้าง
 
4.อย่ากลัวที่จะเพิ่มค่าตัว ถ้ามั่นใจว่าฝีมือของเรานั้นไปอีกระดับ เคยผ่านการรับงานจากองค์กรใหญ่ๆ มาบ้าง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็พร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกนิด เพื่องานที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น
 
ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ การทำงานแบบฟรีแลนซ์นั้นก็จะสะดวกมากขึ้น เชื่อว่าในอนาคตจะมีหลากหลายสายงานที่หันมาใช้บริการฟรีแลนซ์แทนการจ้างพนักงานประจำ
 
ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยหรือเคล็ดลับใดๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับการเริ่มลงมือทำ ลองมองหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ มีวินัยในการทำงาน และหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณก็จะเป็นฟรีแลนซ์ที่ได้ทำงานอย่างอิสระ ได้ทำงานในแบบที่ชอบ แล้วก็มีรายได้ที่มั่นคง
               
หากใครอ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกอยากดูรายการ ‘More Money Talk ทำไงดีให้มีเงินเพิ่ม’ สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก กรุ๊ป ‘ชมรมคนมีตังค์’ โดย กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ง่ายๆ แค่กด ‘Join Group’ ที่ http://bit.ly/2JXxYF6 เพียงเท่านี้คุณก็จะไม่พลาดการรับชม FB Live แล้ว

นอกจากนี้ รายการ ‘More Money Talk ทำไงดีให้มีเงินเพิ่ม’ ยังคงมีหัวข้อดีๆ เนื้อหาโดนๆ ที่จะช่วยแนะนำวิธีเพิ่มเงินในกระเป๋าคุณอย่างไม่น่าเชื่อ รอติดตามโปรแกรมเด็ดทุกเดือนตลอดปีนี้ โปรดติดตามครับ!
 
 
< ย้อนกลับ