ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลดีอย่างไร

0 Share
0
ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลดีอย่างไร

ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลดีอย่างไร

ถ้าคุณเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน แล้วไม่รู้จะลงทุนอะไรดี หรือหากคุณเป็นคนที่มีความพร้อมในการลงทุนแต่ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงกับการลงทุนในกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนรวมหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เราแนะนำทางเลือกในการลงทุนเพื่อการออมเงินในพันธบัตรรัฐบาล

พันธบัตรรัฐบาล เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุน ที่มีความน่าเชื่อถือสูง และเป็นรูปแบบของการออมเงินอย่างหนึ่ง แต่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการออมในรูปแบบของการฝากประจำหรือฝากออมทรัพย์ เพราะให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ไปทำความรู้จักและความเข้าใจแบบกระจ่างกับ “พันธบัตรรัฐบาล” กันก่อนดีกว่า

“พันธบัตรรัฐบาล” คืออะไร

พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) หรือตราสารหนี้รัฐบาล ออกโดยหน่วยงานของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผู้ซื้อหรือนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้และผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล จากลูกหนี้คือรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ออกพันธบัตรนั้น ๆ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงคุณนำเงินไปซื่อพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารที่ให้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ข้อดีของพันธบัตรรัฐบาล คือ มีความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หาย ได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยจะได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากำหนด ระยะเวลาลงทุนไม่นานมาก เช่น 1 ปี 3 ปี 5 ปี 7 ปี พูดง่ายๆ ก็คือ คุณซื้อพันธบัตรมาเก็บไว้จนถึงเวลาที่ต้องไถ่ถอนตามกำหนดสัญญาก็จะได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยรายปี ๆ แต่เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุน จึงย่อมมีความเสี่ยงและเงื่อนไขการลงทุนที่เราต้องศึกษา
 
แบ่งประเภทของพันธบัตรได้ ดังนี้
ประเภท รายละเอียด
พันธบัตรตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) เป็นพันธบัตรที่มีความมั่นคงสูงสุด เพราะออกโดยกระทรวงการคลัง จึงมีความเสี่ยงน้อย แต่ผลตอบแทนต่ำ ตั๋วเงินคลังไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ใช้วิธีขายต่ำกว่าเพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน โดยระยะเวลาไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปี
พันธบัตรตั๋วสัญญาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructure Bill) เป็นพันธบัตรที่ออกโดยสถาบันการเงิน เพื่อระดมทุนช่วยเหลือฟื้นฟูกองทุน และพัฒนาสถาบันการเงิน มีความเสี่ยงมากกว่าตั๋วเงินคลัง ให้ผลตอบแทนด้วยวิธีขายต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว แต่ไถ่ถอนคืนเต็มราคา และไม่ได้รับดอกเบี้ย ไถ่ถอนได้ภายใน 6 เดือน
พันธบัตรรัฐบาล
(Government Bond)
คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับพันธบัตรประเภทนี้ ที่ออกโดยรัฐบาลเพื่อระดมทุนไปใช้ในการบริหารประเทศ ลดการขาดดุลทางการเงิน ถือเป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุมากกว่า 1 ปี ส่วนใหญ่อยู่ที่ 3-7 ปี มีการจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง
พันธบัตรออมทรัพย์
(Government Saving Bond)
เป็นการซื้อพันธบัตรเพื่อออมทรัพย์ โดยจะขายให้กับบุคคลทั่วไปและองค์กรไม่แสวงหากำไรในสังกัดของรัฐบาล มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป และจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง

เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง

เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลถูกจัดให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนจึงมีความเสี่ยงในการลงทุนเป็นธรรมดา ก่อนจะลงทุนในพันธบัตรคุณต้องทำความเข้าใจในจุดนี้ก่อน ความเสี่ยงที่ว่านี้ แบ่งออกเป็น
  1. ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่คุณหมดสิทธิ์ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม เพราะพันธบัตรรัฐบาลเป็นดอกเบี้ยตายตัว คุณก็จะเสียผลประโยชน์ในจุดนี้ไป
  2. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) เพราะพันธบัตรมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ต้องถือให้ครบตามสัญญาจึงจะได้เงินคืน ไม่สามารถไถ่ถอนก่อนถึงกำหนดเวลาได้
  3. ความเสี่ยงด้านสภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ในกรณีที่ค่าเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ๆ แต่ดอกเบี้ยจากพันธบัตรยังเท่าเดิม ก็จะไม่คุ้มค่าที่ลงทุนไป
ถ้าคุณคิดว่ารับความเสี่ยงนี้ได้ ก็ลุยต่อ แต่สิ่งต่อมาที่คุณต้องพิจารณาคือ ภาษี มีทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้ โดยผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของพันธบัตรต้องถูกนำมาคิดภาษีด้วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ภาษีที่ผู้จ่ายเงินปันผลหรือผู้ออกพันธบัตรต้องหักเอาไว้ 10% ในทุกกรณี ขณะที่ภาษีเงินได้ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะเสียภาษี 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับ

เตรียมพร้อมลงทุน

เมื่อเข้าใจพันธบัตรรัฐบาลแล้ว พันธบัตรรัฐบาลจำหน่ายอยู่ที่หน่วยละ 1,000 บาท กำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาท เท่ากับ 1 หน่วย ไม่จำกัดวงเงินซื้อสูงสุดและจำนวนครั้งที่ซื้อ โดยต้องซื้อเป็นหน่วยทวีคูณของ 1,000 บาท เช่น 2,000 บาท, 10,000 บาท, 150,000 บาท

อย่าปล่อยให้เงินเก็บของคุณ กลายเป็นเงินเย็น ไม่งอกเงย ออกดอกออกผล ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการลงทุนในพันธบัตรเท่านั้น จะเป็นรูปแบบการลงทุนอื่นที่คุณสนใจก็ได้เหมือนกัน เพียงแต่ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนเพื่อการออม ต้องศึกษาการลงทุนนั้นให้ละเอียดก่อนเท่านั้นเอง จะได้ไม่เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า
 
 
Sources:
https://masii.co.th
 
< ย้อนกลับ