หนี้ดี VS หนี้เสีย รู้เท่าทัน ก่อนไม่เหลือเงินในกระเป๋าสักบาท!

0 Share
0
Always-on_Banner_11_Good-Debt_Bad-Debet_1012x530.jpg

หนี้ไหนดี? หนี้ไหนเสีย? เป็นที่ถกเถียงกันหลายครั้งหลายคราว แต่ความจริงก็คือ


หนี้ดี หมายถึง หนี้สร้างรายได้  เช่น การลงทุนกู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่าแล้วได้ส่วนต่างเป็นกระแสเงินสด

ส่วนหนี้เสีย หมายถึง หนี้ไม่สร้างรายได้ เช่น หนี้ที่เกิดจากการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินตัว และไม่สามารถจัดการควบคุมได้จนส่งผลให้เกิดหนี้สินวนเวียนเป็นวงจรจนไม่อาจแก้ไขอะไรได้

จากข้อสังเกตดังกล่าวจะทำให้เราสำรวจตัวเองได้ง่ายๆ ว่า จริงๆ แล้วหนี้ที่เรามีอยู่ทุกวันนี้เป็นหนี้แบบไหนกันแน่
 
อย่าลืมนะว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะผิดถ้าเป็นหนี้แล้ว ไม่รู้จักการบริหารจัดการหนี้ที่ถูกต้อง ไม่สามารถจ่ายตามกำหนดเวลาชำระได้ และสุดท้ายกลายเป็นทำให้การเงินของชีวิตเราดิ่งลง แบบนี้บอกเลยว่าไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน ทีนี้มาดูกันว่าถ้าหากเรามีหนี้เสีย โทษของมันมีอะไรบ้าง และเราควรจะบริหารจัดการมันอย่างไร?
 
1. หนี้เสีย ทำให้เสียวินัย
ถ้าหากเรามีหนี้เสีย ย่อมแปลว่าเริ่มกระทบต่อชีวิตของเราในการผ่อนจ่าย การจัดการรายได้ต่างๆ ทำให้เราไม่สามารถสร้างวินัยในการจัดการเงินระยะยาวได้ สุดท้ายจะเป็นผลเสียต่อชีวิตทั้งเรื่องการออมเงิน ลงทุน ไปจนถึงการหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 
วิธีแก้ไขเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ คือ การกำหนดสัดส่วนในการเป็นหนี้ เนื่องจากคนเราไม่ควรเป็นหนี้เกิน 40% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 20,000 ไม่ควรมีหนี้เกิน 8,000 บาท เพราะจะทำให้เราไม่มีเงินพอจ่ายในชีวิตประจำวัน หากเรารู้จักวางแผนเรื่องการเงินด้วยวิธีการจดบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ วางงบประมาณการใช้จ่ายของตัวเอง กำหนดเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจนและทำตามอย่างไม่ลังเล เพียงเท่านี้วินัยก็จะไม่เสียไปอย่างแน่นอน
 
2. หนี้เสีย ทำให้เสียการควบคุมชีวิตและเครดิตการเงิน
หลายคนมองเห็นว่า เป็นหนี้ก็แค่ไม่จ่าย จ่ายไม่ไหว อยากจะยึดอะไรได้ก็ยึดไปสิ แต่หากลองคิดสิว่า ถ้าหากเป็นหนี้ถึงจุดหนึ่งแต่ยังไม่แก้ที่นิสัยการใช้เงินของตัวเอง ทั้งใช้จ่ายเกินตัว ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้เงินมือเติบ เราจะต้องเจอวงจรหนี้ติดตามเป็นเงาไม่มีวันจบสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ถูกติดตามทวงหนี้ หมุนเงินจนหัวหมุนก็ยังใช้เงินไม่พอในชีวิตประจำวัน และสุดท้ายมันจะทำให้เราไม่เห็นค่าของตัวเองในที่สุด เหมือนกับคนที่หยุดชีวิตไว้กับการเป็นหนี้เท่านั้น ที่ร้ายกว่านั้น อาจต้องหนีหนี้ไม่มีวันใช้ชีวิตอย่างสงบได้
 
วิธีแก้ไข คือ สิ่งที่ทำได้อันดับแรกคือหยุดสร้างหนี้ ด้วยการไม่สร้างภาระเพิ่ม แล้วเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการปลดหนี้ สิ่งที่สองคือการปรับเปลี่ยนนิสัยและรู้จักจัดสรรแบ่งส่วนการใช้จ่ายเงิน หากเป็นไปได้ควรปันเงินส่วนหนึ่งไปออม เพื่อสร้างวินัยการใช้เงินและสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราสามารถลดหนี้สินและเพิ่มเงินออมเพื่ออนาคตได้
 
3. หนี้เสีย ทำให้เสียโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต
ลองจินตนาการดูซิว่า หากฝันอยากไปล่าแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ หรือฝันอยากไปเรียนต่อปริญญาโทที่ซีกโลกตะวันตกสักครั้งในชีวิต หรือฝันอยากเป็นเจ้าของคอนโดสักห้องเพื่อทำกำไรสร้างอนาคตและลงหลักปักฐานก่อนอายุ 35 ปี หรือโอกาสดีๆ ในชีวิตอีกมากมายของคุณ ทุกอย่างจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าหากชีวิตคุณถูกรัดรึงด้วยกับดักหนี้สินที่ฉุดรั้งคุณให้หมดโอกาสในการใช้ชีวิต
 
วิธีแก้ไข คือ การลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างของตัวเองช่น หากรายได้น้อย แต่ต้องผ่อนทั้งรถ ทั้งคอนโด หรือโทรศัพท์มือถือราคาแพง ควรตัดใจพิจารณาเก็บไว้เฉพาะรายจ่ายที่จำเป็นที่สุดก่อน แล้วตัดใจขายของฟุ่มเฟือยบางรายการเพื่อเอาเงินก้อนไปชำระหนี้ก่อน หรือหากชีวิตประจำวันเคยดื่มกาแฟแก้วละหลายร้อยบาท ลองเปลี่ยนไปดื่มกาแฟที่ราคาย่อมเยาลง ลองคำนวณราคาค่ากาแฟทั้งปีดู เชื่อหรือไม่ประหยัดเงินลงได้หลายพันบาทเลยทีเดียว
 
ข้อเสียทั้ง 3 ข้อที่ว่ามา ถ้าหากเราย้อนกลับไปสักนิด ก่อนที่จะคิดเป็นหนี้ เราอาจจะต้องพิจารณาถึงวงจรในการสร้างรายจ่ายในแต่ละรายการประกอบด้วย อาจช่วยให้เห็นภาพรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เราต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยให้เราประเมินได้ว่า เราควรซื้อของชิ้นนั้นๆ หรือไม่ เช่น คนที่ซื้อรถ ต้องคิดไปถึงค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษารถ ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าประกันรถ หรือคนซื้อคอนโด ต้องคิดถึงค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าออกแบบตกแต่ง ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายซ่อมแซม ซึ่งหากเรามองเห็นเรื่องพวกนี้ก่อน ถึงเวลานั้นอาจตอบกับตัวเองได้ว่า นี่เป็นแค่ความอยาก หรือเป็นความจำเป็นที่เราควรซื้อ
 
ดังนั้น การแยกแยะระหว่าง ความจำเป็น กับ ความอยาก ก่อนใช้เงินทุกครั้ง จะช่วยให้เรากลายเป็นคนฉลาดในการใช้เงิน และไม่ก่อหนี้สินจนเกินตัว ถึงแม้ว่าความสามารถในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เรามีโอกาสเปลี่ยนความอยากให้เป็นความจำเป็นได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่เราควรจดจำไว้ทุกครั้งก่อนใช้จ่ายเงิน คือ  คิดก่อน ใช้ และ ‘เก็บ ก่อน ‘จ่าย’ เพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคงของตัวคุณเอง
 
 
 
< ย้อนกลับ